สพฐ. ประชุมวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกำหนดแนวทางการจัดทำโครงการเพื่อนำเข้าข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR)

วันที่ 10 มิถุนายน 2568 นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกำหนดแนวทางการจัดทำโครงการเพื่อนำเข้าข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ของ สพฐ. และ สพท. โดยมีนางวรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน และบุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่ กลุ่มนโยบายและแผน กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา กลุ่มพัฒนาครูและบุคลากร กลุ่มอำนวยการ และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าร่วมจำนวน 54 คน ณ โรงแรมชีวิน เดอ แบงค็อก กรุงเทพมหานคร
.
นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย กล่าวว่า สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยแนวทางในการจัดทำโครงการนั้น ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมทั้งเน้นย้ำการนำเข้าข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ตามปฏิทินการดำเนินงานที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีผลต่อการได้รับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานในปีถัดไป จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกำหนดแนวทางการจัดทำ โครงการในการนำเข้าข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงาน ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ของ สพฐ. และ สพท.
.
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกลไกการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา พ.ศ. 2560 โดยได้เพิ่มการติดตาม ประเมินผล และนิเทศ โดยเขตพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการตรวจราชการ บูรณาการร่วมกับจังหวัด สพป. สพม. มีส่วนช่วยติดตาม โดยเชื่อมโยงกับ กตปน. ของเขตพื้นที่ ผอ.เขตพื้นที่ ดูจังหวัดพื้นที่ตนเอง โดยมีศึกษานิเทศก์เป็นเลขาฯ ใช้จุดนี้เป็นจุดติดตาม และประเมินผลของ สพฐ. ภายใต้แนวคิด “ใช้จังหวัดเป็นฐาน” ส่วนการขับเคลื่อนดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ที่ผ่านมา สพฐ. ได้วางแผนให้ สพท. เพื่อจัดทำโครงการ สื่อสารให้ความเข้าใจ อบรมให้ความรู้ จัดทำคู่มือ ดูแลกำกับ ติดตาม และอนุมัติโครงการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 สพฐ. สามารถลดโครงการ จาก 7,202 เหลือ 3,817 โครงการ ซึ่งลดลง 3,385 โครงการ คิดเป็น 47%
.
“ในด้านนโยบายลดภาระงาน ขอเน้นให้การติดตามผลเป็นกระบวนการที่สร้างประโยชน์และความสุข แทนการเพิ่มงานซ้ำซ้อน ด้านการใช้ผลประเมินพัฒนางาน ขอให้ไม่เปรียบเทียบผลระหว่างหน่วยงาน แต่ใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาการทำงานภายในเขตพื้นที่ตนเอง ส่วนการปรับโครงสร้างระบบ ขอให้เพิ่มบทบาทการติดตามไปที่ กตปน. โดยใช้จังหวัดเป็นฐาน และเสริมทักษะศึกษานิเทศก์ และในด้านการแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน เช่น โครงการวัตถุประสงค์เดียวกันแต่ใช้ชื่อแตกต่างกัน หรือการติดตามงานเดียวกันจากหลายหน่วย สำหรับเป้าหมายต่อไป คือ การลดโครงการเหลือ 45 โครงการใหญ่ โดยบูรณาการกิจกรรมย่อย ยกเลิกโครงการซ้ำซ้อนภายใน 3 เดือน และส่งเสริมการใช้ข้อมูลกลางแทนการเก็บข้อมูลซ้ำจากโรงเรียน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นระบบการทำงานแบบ “ประหยัด สะดวก เรียบง่าย” เพื่อมุ่งสู่การศึกษาที่มีคุณภาพและความสุขของนักเรียนเป็นหลัก” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

Loading