วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 แล้ว ซึ่ง สพฐ. ได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง, ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยดูแลให้สถานศึกษาดำเนินการตามประกาศหลักการและแนวปฏิบัติในการมอบหมายการบ้าน “ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” ที่มุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ให้การบ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ และเป็นเครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ขณะเดียวกันให้เขตพื้นที่ฯซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัดระหว่างทาง และ ตัวชี้วัดปลายทาง ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) และแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตัวชี้วัดระหว่างทาง ตัวชี้วัดปลายทาง และเกณฑ์การตัดสินผลการเรียน
.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า หลักการ “ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” มุ่งเน้นให้ครูลดปริมาณการบ้านที่ต้องทำนอกเวลาในชั้นเรียน ให้เน้นการมอบหมายการบ้านเฉพาะรายวิชาที่จำเป็นทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ให้มีการบูรณาการการบ้าน ซึ่งการบ้านชิ้นงานเดียวอาจตอบโจทย์การเรียนรู้ข้ามรายวิชา และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของตนเองมากขึ้น ทั้งนี้ หัวใจของการให้การบ้าน คือ การให้เด็กๆ ได้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ให้ได้ฝึกฝนทำซ้ำจนเกิดทักษะ ซึ่งเด็กแต่ละคนต้องการเวลาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนไม่เท่ากัน หรือ สำหรับเด็กโต การบ้านที่ให้ได้ค้นคว้าอย่างอิสระ จะยิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ช่วยบ่มเพาะความรับผิดชอบในตนเอง ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำกับคุณครูว่า การให้โจทย์ที่ไม่ยากไม่ง่าย ไม่ใช้เวลามากเกินไป แล้วมีการตรวจการบ้าน อธิบาย ให้ feedback จุดที่ควรพัฒนาอย่างตรงประเด็น จึงจะเป็นการพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง ซึ่งความสุขที่เกิดจากการลดปริมาณแต่เพิ่มคุณภาพของการบ้าน เช่น ทำการบ้านหนึ่งชิ้นงานส่งคุณครูเพื่อวัดผลการเรียนรู้ได้หลายวิชา จะสร้างความสุขให้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูเองด้วย
.
“เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนรู้และลดภาระครู และนักเรียน ด้านการจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ สพฐ.ได้ดำเนินการคัดสรรตัวชี้วัดระหว่างทาง และตัวชี้วัดปลายทาง ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ซึ่งจากจำนวนตัวชี้วัดทั้งสิ้น 2,056 ตัวชี้วัด สามารถจำแนกเป็นตัวชี้วัดระหว่างทาง จำนวน 1,285 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดปลายทางจำนวน 771 ตัวชี้วัด โดยการคัดสรรตัวชี้วัดดังกล่าวนี้ นักเรียนยังคงได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนด อย่างครบถ้วนผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล ดังนี้ การประเมินผลการเรียนรู้กับตัวชี้วัดระหว่างทาง ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเน้นการประเมินระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นหลัก เช่น การสังเกตพฤติกรรม การสอบปากเปล่า การพูดคุย การใช้คำถาม การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ การประเมินตนเองและเพื่อน เป็นต้น สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้กับตัวชี้วัดปลายทาง เน้นการประเมินผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนด้วยวิธีที่หลากหลาย หรือการวัดและประเมินผลแบบเป็นทางการ เช่น การประเมินด้วยการปฏิบัติ แฟ้มสะสมผลงาน แบบทดสอบ และชิ้นงาน เป็นต้น” เลขาธิการ กพฐ.
- รองเลขาธิการ “ธีร์” รับมอบเงินบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทางภาคเหนือ จากโรงเรียนวิมุตยารามพิทยากร สังกัด สพม.กท. เขต1 - 19 กันยายน 2024
- “เสมา1” เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลสื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 - 19 กันยายน 2024
- สพฐ. แจงศิลปหัตถกรรมนักเรียน แยกการแข่งวิชาการ ลดภาระครู-นักเรียน ไม่ซ้ำซ้อน - 19 กันยายน 2024