วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) มอบหมายให้ นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการ รมช.ศธ. เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย พลตรี สรรวิชญ์ ภูมิทักษ์วงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา รวมถึงคณะวิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ นักวิชาการศึกษา และคณะทำงาน จำนวน 300 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมเอวาน่า แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซนเตอร์ กรุงเทพมหานคร
.
นายกมล รอดคล้าย กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์และการวิจัยชั้นแนวหน้า เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งประเทศของเราจะมีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองได้ หากประชาชนทุกช่วงวัยเข้าใจในรากฐานวัฒนธรรมไทยและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ มีจิตสำนึกรักความเป็นไทย มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม หลักคิดที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง และสถาบันสำคัญของชาติ เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและสังคมโลก
.
“ดังนั้น การพัฒนาเยาวชนของชาติในวัยเรียน จึงต้องอาศัยกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการ จึงมีหน้าที่ในการพัฒนาประชากรตั้งแต่วัยแรกเริ่ม ปลูกฝังค่านิยมที่ดีและสร้างวิวัฒนาการที่ทันสมัย รวมถึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริม สนับสนุน การเรียนการสอนประวัติศาสตร์หน้าที่พลเมือง ศาสนาศีลธรรมและจริยธรรมมาอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนด “โครงการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” ขึ้น การอบรมฯ ในครั้งนี้จะทำให้ครูผู้สอนมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยและบริบทของพื้นที่ และนำองค์ความรู้เรื่องความรักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ไปขยายผลในการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้กับนักเรียนได้อย่างถูกต้อง ปลูกฝังการรักในสถาบันชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และดำรงตนเป็นคนดีของชาติสืบไป” นายกมล กล่าว
.
ด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำโดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ได้ประกาศนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพ และสมรรถนะที่สำคัญตามบริบทของประเทศและสังคมโลก โดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทุกภาคส่วน โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และเน้นย้ำให้ความสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบและการจัดกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกรักและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติและยึดมั่นสถาบันหลักของชาติ
.
“เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดให้กิจกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ การปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ การน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ เป็นนโยบายและจุดเน้นสำคัญที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์มีแนวทางและสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนตามบริบทของสถานศึกษา ให้ครูสามารถนำความรู้เรื่องความรักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ไปขยายผลจัดการเรียนการสอน ปลูกฝังความรักในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ให้แก่ผู้เรียนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ ในการอบรมฯ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 3 ท่าน ได้แก่ นายกองเอก ธารณา คชเสนี นายหมวดตรี น้ำเพชร คชเสนี สัตยารักษ์ และ ดร.ลักษิกา เจริญศรี พร้อมด้วยกำลังพลทหารผู้ช่วยวิทยากรอีก 30 นาย มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม ได้แก่ ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต ในครั้งนี้ด้วย
#เรียนดีมีความสุข
- “สพฐ. เร่งเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย พร้อมวางมาตรการทัศนศึกษาเข้ม” - 2 ตุลาคม 2024
- นายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล เดินทางเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ - 2 ตุลาคม 2024
- สพฐ. เร่งหารือสำนักงบ-กรมบัญชีกลาง ปมจ้างเหมาธุรการโรงเรียน - 1 ตุลาคม 2024