เสมา 1 ชื่นชม สพฐ. รุดหน้าแก้หนี้สินครู สร้างความรู้ทางการเงินให้ครูทุกพื้นที่

วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้าใจการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีครูและบุคลากรของ สพฐ. เป็นสมาชิกทั่วประเทศ 100 แห่ง และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต เข้าร่วม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ OBEC Channel ไปยังผู้ชมทั่วประเทศ

.

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า นโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้ครูและบุคลากรฯ สามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้เห็นผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง ใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร จะทำให้ครูและบุคลากรมีสภาพคล่องทางการเงิน มีขวัญ กำลังใจ และมีสมาธิจดจ่อในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียน รวมทั้งสามารถวางแผนพัฒนาตนเองได้อย่างดี อีกทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคประชาชน และบุคลากรภาครัฐ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เห็นผล โดยการแก้ปัญหาหนี้สินจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมไปพร้อมกัน ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูและบุคลากร ทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างตำแหน่งต่างๆ กว่า 9 แสนคน รวมถึงครอบครัวของครูและบุคลากรดังกล่าว หลายล้านคน มีสหกรณ์เป็นที่พึ่งทั้งฝากออม กู้เพื่อการลงทุน และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดูแลตนเองและครอบครัว ส่งบุตรหลานเล่าเรียน ตอบแทนพระคุณและเลี้ยงดูพ่อแม่ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล การบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวงจรชีวิตครูและบุคลากร รวมถึงมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเรา ดังนั้น การบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จึงเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่ง ในกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ 

.

“ดังนั้นความร่วมมือของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่จะเกิดขึ้นจากการสัมมนาในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของครูและบุคลากรในระยะยาว โอกาสนี้ ขอขอบคุณผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกท่าน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครูและบุคลากร ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง สู่การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและความมั่นคงของชีวิต คงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไปให้เห็นผลเป็นรูปธรรม สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร อาจดำเนินการได้ทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ เป้าหมายสำคัญคือ ให้ครูและบุคลากรมีเงินเดือนเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ 30 เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรู้และคุณธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างเสริมสมรรถนะนักเรียนเราทุกคนให้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะด้านการเงิน สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป รวมถึงทุกส่วนราชการที่นำนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรลงสู่การปฏิบัติอย่างเห็นผลและต่อเนื่อง เพื่อให้ครูยิ้มได้ นักเรียนสดใส “เรียนดี มีความสุข” อย่างยั่งยืน” รมว.ศธ. กล่าว

.

ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า จากนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรฯ ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากร สพฐ. ได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติโดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ครูและบุคลากรทุกคนต้องมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น มีเงินเดือนเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ 30 พร้อมทั้งมีความรู้และทักษะด้านการเงิน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีอาชีพเสริม และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างดีมีประสิทธิภาพสูงตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รวมถึงในส่วนของนักเรียน ทุกคนต้องมีความรู้และทักษะด้านการเงิน เพื่อให้มีสมรรถนะด้านการเงินพร้อมใช้ชีวิตในอนาคตได้เป็นอย่างดี ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สพฐ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1) จัดตั้งสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ 2) จัดทำระบบออนไลน์รับลงทะเบียนผู้สมัครใจแก้ไขหนี้สิน 3) ประสาน เจรจา สถาบันการเงินเพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ และแสวงหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาร่วมกันกับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลและการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฐ. พบว่า มีครูและบุคลากรทางการศึกษากว่าร้อยละ 90 มีหนี้สินอยู่กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ถ้าได้รับความร่วมมือ และความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานจากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้อง จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ตรงจุด และประสบความสำเร็จ ทุกฝ่ายมีความสุข เศรษฐกิจก้าวหน้า และสังคมประเทศไทยโดยภาพรวมมีความสุขร่วมกัน 

.

พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการจัดงาน “สัมมนาส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้าใจการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา” เพื่อขอความร่วมมือและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกมิติ ทั้งด้านสวัสดิการ และประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และบุคลากรในสังกัดทุกคน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย พร้อมคณะวิทยากร ประกอบด้วย นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด ดร.ขจร ธนะแพสย์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย เลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ดร.ณรินทร์ ชำนาญดู ประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด นายดำเนิน เพียรค้า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4 และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ด้วย

.

“จากการสัมมนาในวันนี้จะเห็นความสุขของครูและบุคลากร จากการเป็นผู้นำที่สมบูรณ์ของประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่บริหารงานเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมตามอุดมการณ์ของการจัดตั้งสหกรณ์ รวมถึงภาวะผู้นำของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่ช่วยเหลือดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัวให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีมีความรู้ และคุณธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเมื่อครูและบุคลากรมีความมั่นคงทางการเงิน ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข ก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้การศึกษาของเด็กไทยเกิดการพัฒนาอย่างรุดหน้า ทั้งครูและนักเรียนจับมือกัน “เรียนดี มีความสุข” อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว