วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยมี นายสำเร็จ ไกรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นประธานศูนย์เครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน เจ้าภาพการจัดงาน การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับชาติ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2567 โดยมี นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม นางปริศนา วรรณารักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คุณชลฤทัย ทวีแสง รองผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงานจาก สพฐ. และ สสวท.คณะกรรมการผู้ตัดสิน คณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักเรียน และผู้มีเกียรติ ณ ห้องประชุมดารารัศมี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายและจุดเน้นสำคัญ ให้สถานศึกษามุ่งให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้สนองนโยบาย โดยการส่งเสริมการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากจุดมุ่งหมายระหว่างการเรียนที่ต้องการให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะในการศึกษาค้นคว้า โดยการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ส่งผลให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมทั้งให้มีการจัดเวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กไทยได้แสดงออกและหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ เพราะในชีวิตประจำวันของนักเรียนและของมนุษย์ทุกคน จะต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา วิวัฒนาการทางด้านความรู้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของชีวิต
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหล่อหลอมให้คนในสังคม รู้จักวิธีการคิดอย่างมีเหตุผล มีวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา ผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว เป็นกระบวนการที่สร้างคนให้มีเหตุผล มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผ่านการวิเคราะห์สภาพการณ์ หรือปัญหาในชีวิตประจำวัน ให้อยู่ในแนวทางของเหตุและผล ตามหลักตรรกะทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของพลเมืองในสังคมยุคปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต
โอกาสนี้ ผมขอขอบคุณคณะทำงานจาก สพฐ. และ สสวท. คณะกรรมการผู้ตัดสิน คณะผู้บริหาร คณะครู โรงเรียนในเครือข่ายโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และโรงเรียนในเครือข่ายโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ พสวท. ทุกโรงเรียนที่ได้ตอบรับและนำนักเรียนเดินทางมาเข้าร่วมในกิจกรรมการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2567 ในวันนี้
- สพม.เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความเสียหายของโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย - 4 ตุลาคม 2024
- สพม.เชียงใหม่ เข้าร่วมการประชุมขับเคลื่อนแผนการยกระดับผลการประเมิน PISA ครั้งที่ 15 - 4 ตุลาคม 2024
- สพม.เชียงใหม่ ร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมและฟื้นฟูอาคารเรียน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย - 3 ตุลาคม 2024