สพฐ. จับมือ สมาคมกีฬามวยไทย ส่งเสริมคีตะมวยไทย สร้างเด็กสุขภาพดี-ต่อยอดอาชีพระดับสากล

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนโครงการคีตะมวยไทยสู่นานาชาติ “มรดกไทยสู่มรดกโลก” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ สมาคมกีฬามวยไทย (คีตะมวยไทย) โดยมีนายเกรียงศักดิ์ มั่นมะโนธรรมะ นายกสมาคมกีฬามวยไทย (คีตะมวยไทย) ร่วมลงนาม พร้อมด้วยนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางวรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน และนายรังสรรค์ ดรละคร ที่ปรึกษาสมาคมกีฬามวยไทย (คีตะมวยไทย) รวมถึงบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า ในนามของ สพฐ. ขอขอบคุณสมาคมกีฬามวยไทย (คีตะมวยไทย) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ให้ได้รู้จักและเข้าใจศิลปวัฒนธรรมของคีตะมวยไทย ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็น Soft Power ของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยคีตะมวยไทย เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จัก “แม่ไม้มวยไทย” ภูมิปัญญาการป้องกันตัว ที่บรรพบุรุษมอบไว้เป็นมรดกแก่ชาวไทยทุกคน ให้นักเรียนได้ภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และเป็นการเรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติ ลักษณะ “Play and Learn” ทำให้เด็กๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะเพลง พร้อมกับเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างสนุก เพลิดเพลิน เหมาะสมกับวัย ซึ่งประโยชน์หรือผลพลอยได้จากกิจกรรมนี้ คือ นักเรียนได้เรียนรู้ศิลปะป้องกันตัว ช่วยเหลือตนเองได้ยามจำเป็น มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ได้ฝึกฝนจิตใจให้มีสมาธิ อีกทั้งคีตะมวยไทย หรือกีฬามวยไทย ยังเป็น Soft Power ของประเทศที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต อาจเป็นแรงบันดาลใจสู่การสร้างนักกีฬามวยไทยมืออาชีพ นำไปสู่การสร้างรายได้และความมั่นคงในชีวิต และนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติได้
.
“การลงนามในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้กีฬาคีตะมวยไทยในการออกกำลังกาย (Aerobic Muaythai) ของนักเรียน และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในสังกัด สพฐ. ได้รับการพัฒนาทักษะกีฬาคีตะมวยไทย และมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ซึ่งมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามความร่วมมือเป็นต้นไป โดย สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานเรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุน ขับเคลื่อนโครงการคีตะมวยไทยสู่นานาชาติ “มรดกไทยสู่มรดกโลก” ให้นักเรียนในสังกัด สพฐ. ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาคีตะมวยไทยทั้งในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติอย่างจริงจัง สุดท้ายนี้ สพฐ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเริ่มต้นปลูกฝัง บ่มเพาะ เมล็ดพันธุ์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมแก่ลูกๆ นักเรียน ในวันนี้ จะเติบโตเป็นพลังสำคัญในการสืบสานมรดกภูมิปัญญาของไทย แผ่ขยายร่มเงา Soft Power คีตะมวยไทย และศิลปะแม่ไม้มวยไทย สู่การเป็นมรดกโลกอย่างยั่งยืนสืบต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ด้านนายเกรียงศักดิ์ มั่นมะโนธรรมะ กล่าวว่า สมาคมกีฬามวยไทย (คีตะมวยไทย) มีความประสงค์ให้กีฬาคีตะมวยไทยได้รับการเผยแพร่สู่เยาวชนในวงกว้าง จึงขอความร่วมมือมายัง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนการดำเนินโครงการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณ สพฐ. ที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเราจะส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมเกี่ยวกับคีตะมวยไทยสำหรับสถานศึกษาที่สนใจ อาทิ การจัดตั้งชมรม “คีตะมวยไทย” การออกกำลังกายด้วยคีตะมวยไทย (Aerobic Muaythai) และผลักดันให้เกิดการแข่งขันตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค จนถึงระดับประเทศ และระดับนานาชาติ (Road Show และ World Championships) โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สมาคมกีฬามวยไทย (คีตะมวยไทย) และ สพฐ. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการคีตะมวยไทยสู่นานาชาติ “มรดกไทยสู่มรดกโลก” ให้เกิดประสิทธิภาพ เห็นผลเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์การแผ่ขยาย Soft Power ของรัฐบาลในระดับนานาชาติต่อไป