สพฐ. พัฒนาครูประจำหอนอน ดูแลสุขภาพเด็กทั้งร่างกาย-จิตใจ พร้อมเรียนรู้สมวัย

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพครูประจำหอนอนในสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมพัฒนามีองค์ความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีในบทบาทหน้าที่ของครูประจำหอนอน มีทักษะดูแลผู้เรียนให้อยู่ในหอนอนได้อย่างมีความสุข โดยมีนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วยครูประจำหอนอนนักเรียนในโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ สังกัด สศศ. จำนวนทั้งสิ้น 104 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพมหานคร

.

สำหรับการอบรมพัฒนาศักยภาพครูประจำหอนอนในสถานศึกษาสังกัด สศศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมบุคลากรในสถานศึกษา ให้เข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล มีทักษะการฟังเชิงรุก เป็นผู้ฟังที่ดี มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์จิตวิทยา ทั้งในเชิงทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น พร้อมทั้งการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระยะเวลาในการอบรม 3 วัน มีเนื้อหาประกอบด้วย 1) การสร้างแรงบันดาลใจ 2) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก 3) จิตวิทยาพัฒนาการ เด็กและวัยรุ่น 4) การปฐมพยาบาลเบื้องต้น 5) บทบาทหน้าที่และคุณธรรมครูหอนอน และ 6) การจัดกิจกรรมในหอนอน ซึ่งวิทยากรที่ให้ความรู้ในการอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วยบุคลากรจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิตและศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี กระทรวงทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการผู้ทรงคุณวุฒิของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรมในครั้งนี้ด้วย

.

ทั้งนี้ สศศ. มีหน้าที่จัดการศึกษาให้กับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ให้มีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเหมือนเด็กทั่วไป นักเรียนในโรงเรียนสังกัด สศศ. โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประจำ ดังนั้นภาระงานที่จะต้องดูแลชีวิตนักเรียนตลอดระยะเวลาที่พักอยู่ในโรงเรียน จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะส่งผลต่อพัฒนาการในทุกๆ ด้านของนักเรียน โดยเฉพาะด้านทักษะชีวิต ครูและบุคลากรในโรงเรียนจึงมีส่วนสำคัญในการกล่อมเกลา หล่อหลอมให้นักเรียนตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ใช้การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ให้นักเรียนสามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียด มีการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายด้าน ก่อให้เกิดความทุกข์ ความเครียด ความวิตกกังวล การปรับตัวที่ไม่เหมาะสม นับเป็นผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะเป็นไปตามความมุ่งหวังดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเฉพาะบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งมีครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษา หรือครูแนะแนว เป็นหลักสำคัญในการดำเนินการต่างๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิด มีขั้นตอนพร้อมด้วยวิธีการและเครื่องมือการทำงานอย่างชัดเจน โดยมีครูและบุคลากรในโรงเรียนเป็นหลักในการดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และมีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลภายนอก รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมจากโรงเรียน ซึ่งวิทยากรที่มาให้ความรู้ในครั้งนี้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการกับสุขภาพจิตทุกคน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับการทำงานในโรงเรียนของตนเองต่อไป