สพม.34 ส่งเสริมสมรรถนะและทักษะอาชีพ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สพม.34 อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนารายวิชาเพิ่มเติมส่งเสริมสมรรถนะและทักษะอาชีพ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Credit – based Upper Secondary Schools) ระหว่างวันที่  27 -28พฤษภาคม 2562 ณ หอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00 น. ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนารายวิชาเพิ่มเติมส่งเสริมสมรรถนะและทักษะอาชีพ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Credit – based Upper Secondary Schools) ให้แก่ ครูวิชาการและครูผู้สอนรายวิชาเพิ่มเติมเชื่อมโยงเตรียมอุดมศึกษา รวมจำนวนทั้งสิ้น 43  คน จาก 16 โรงเรียนในสังกัด สพม 34ณ หอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

โดย นางสาวเกษราภรณ์ สิงห์คะมณี ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ  ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวรายงาน  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 ได้สนองนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษามุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา คือการผลิตกำลังคนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเวทีเศรษฐกิจโลก บนพื้นฐานความเป็นไทย ที่ด้วยหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พลเมืองเข้มแข็ง เป็นกำลังของประเทศชาติสร้างความมั่นคง ยั่งยืน  ในปีงบประมาณ 2562 เป็นการบูรณาการโครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ส่งเสริมอาชีพทั้งระบบสู่การสร้างทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ของกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา ร่วมกับโครงการเด็กดีมีที่เรียนของกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ของการอบรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถครูผู้สอนในด้านการจัดการเรียนรู้ส่งเสริมสมรรถนะและทักษะอาชีพด้วยระบบ Credit Bank ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการศึกษา ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 และสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมสมรรถนะและทักษะอาชีพให้กับนักเรียนในโรงเรียน

ด้าน ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ประธานในพิธีกล่าวว่า  ด้วยนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ โดยวางแผนการเตรียมนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่เส้นทางอาชีพรองรับความต้องการพัฒนาพื้นที่ ให้โรงเรียนปรับหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อการมีงานทำที่มีแผนการเรียนรองรับกลุ่มความถนัดพัฒนาครูปรับรายวิชาเพิ่มเติม มีกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะและทักษะอาชีพเพื่อการเตรียมตัวศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา  ผมหวังว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน คงนำความรู้ ทักษะ แนวคิดและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากร และจากเพื่อครูผู้เข้ารับการอบรม นำไปปฏิบัติและปรับใช้ให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการอบรม ขอขอบคุณวิทยากร จากคณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทุกๆท่าน ที่ให้ความรู้แก่ผู้ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ