สพฐ. ร่วมสัมมนาต้นทุนและผลประโยชน์ของการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับเด็กในโรงเรียน

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวปิดการประชุมสัมมนาต้นทุนและผลประโยชน์ของการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม (MHPSS) สำหรับเด็กและวัยรุ่นในสถานศึกษาในประเทศไทย ผ่านระบบเว็บออนไลน์ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คุณ Severine Leonardi รองผู้แทนองค์การ unicef ประเทศไทย นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต รวมถึงผู้แทนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันการศึกษา และเยาวชนที่สนใจ เข้าร่วมการสัมมนาด้วย

.

โดยการประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงหลักฐานสนับสนุนเชิงเศรษฐกิจสำหรับการลงทุนด้านสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและวัยรุ่น ในประเทศไทย ทั้งในกรณีทั่วไปและในสถานศึกษาโดยเฉพาะ และสร้างพื้นที่เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับวิธีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม (MHPSS) ในระบบการศึกษาไทย รวมถึงการให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินผลโครงการ และการศึกษาเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายที่อิงหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ ในงานสัมมนานักวิจัยได้นำเสนอการเปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์ของงานส่งเสริมสุขภาพจิตในสถานศึกษา พบว่ามีประโยชน์สูงกว่าต้นทุน 6-33 เท่า แสดงให้เห็นความคุ้มค่าของการลงทุน อย่างไรก็ตามเนื่องจากโครงการสุขภาพจิตในประเทศไทยไม่ได้มีการทำประเมินถึงผลกระทบต่อการเรียน นักวิจัยจึงต้องใช้โครงการจากประเทศอื่นมาประมาณการ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการประเมินโครงการที่มีต่อการวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้วย

.

นายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ให้ความสำคัญกับการสร้างโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองมีความสุข ลดภาระครู ซึ่งตอนนี้ในส่วนที่ทาง สพฐ. อยู่ระหว่างดำเนินการและทำไปแล้ว อาทิ การยกเลิกครูอยู่เวร การเพิ่มอัตรากำลังนักการภารโรง มีการลดภาระนักเรียน เช่น การจัดการระบบแนะแนวเพื่อให้นักเรียนรู้จักตัวตน เรื่องอาชีพ การเพิ่มรายได้ระหว่างเรียน โครงการอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขยายโอกาส เป็นต้น พร้อมกันนี้ เราได้จัดตั้งศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. โดยมีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาบุคลากรและระบบการดูแลเด็กในมิติด้านจิตสังคมและการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนที่ทันต่อสถานการณ์ที่เด็กในวัยเรียนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดย สพฐ. ร่วมกับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในการประสานความร่วมมือกัน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาบุคลากรและระบบการดูแลเด็กในมิติต้านจิตสังคมและการคุ้มครองเด็กในโรงเรียน และ สพฐ. ได้จัดสรรตำแหน่งนักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้บริการกับโรงเรียนในพื้นที่ ให้คำปรึกษา และดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนในโรงเรียน

.

นายธีร์ กล่าวต่อไปว่า เราได้ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ในการทำงานเรื่อง Safe to Learn (ปลอดภัยในการเรียนรู้) และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จัด technical roundtable เพื่อตรวจสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุโครงการที่มีอยู่ภายใต้นโยบายการศึกษาในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย การปกป้องคุ้มครองเด็ก และสุขภาพจิต ประเมินช่องว่างและความต้องการ อุปสรรคและความท้าทายเพื่อขจัดความรุนแรงและเสริมสร้างความปลอดภัย รวมถึงเชื่อมโยงกับความคิดริเริ่มและนโยบายของกระทรวงที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ สุขภาพจิตของวัยรุ่น การคุ้มครองเด็กออนไลน์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น ซึ่งตนเชื่อว่าสุขภาพจิตที่ดีของนักเรียน รวมถึงคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ย่อมเอื้อให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิผลเพิ่มขึ้น จากผลการวิเคราะห์ PISA นักเรียนที่มีความรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน และเผชิญกับการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนในระดับที่ต่ำ จะมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนมากกว่า มีความรู้สึกมั่นใจศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-directed learning) สูง และมีความพึงพอใจในชีวิตสูง ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลของประเทศไทย จะพบว่าเด็กไทยรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศ OECD  ซึ่งดัชนีความรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ที่พิจารณาจากความปลอดภัยของการเดินทางไปกลับระหว่างโรงเรียนและบ้าน รวมทั้งความปลอดภัยในห้องเรียน และรอบบริเวณโรงเรียน พบว่า เด็กไทยมีคะแนนอยู่ที่ -0.47 ซึ่งถือว่าอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

.

“วันนี้ รู้สึกดีใจที่ได้เห็นน้อง ๆ เยาวชนเข้ามาร่วมการสัมมนาออนไลน์ เพราะเยาวชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงกับปัญหาสุขภาพจิตและความปลอดภัย การที่น้อง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมรับฟัง สะท้อนคิด และให้ข้อเสนอแนะ เป็นสิ่งจำเป็นในการออกแบบนโยบาย มาตรการ หรือโครงการให้สามารถตอบสนองความต้องการจำเป็นของเด็กและเยาวชนได้อย่างตรงเป้า ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นภารกิจร่วมของหลายหน่วยงาน และแน่นอนว่าเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในมิตินโยบายและงบประมาณ งานสัมมนา webinar ในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้รับฟังผลการวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ Cost benefit analysis ของการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม (MHPSS) สำหรับเด็กและวัยรุ่นในสถานศึกษาในประเทศไทย  ซึ่งน่าจะทำให้เราได้เห็นหลักฐานทางวิชาการว่าการลงทุนเพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตในสถานศึกษาจะให้ผลประโยชน์อย่างไรต่อการศึกษา และประโยชน์เหล่านั้นคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทางองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่ได้ขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน และเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับกระทรวงศึกษาธิการ และขอบคุณกรมสุขภาพจิตซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาคีที่ได้ทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียนร่วมกันมาตลอด เพื่อให้นักเรียนทุกคน “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว