สพป.ตรัง เขต 2 ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในอำเภอรัษฎา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายโครงการพัฒนาความปลอดภัยและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2567 นายวิธาร สุขการ นายอำเภอรัษฎา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการการสร้างภาคีเครือข่ายระดับอำเภอ ตามโครงการพัฒนาประสิทธิภาพความปลอดภัยและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา โดยมี นายปรีชา หมีนคลาน รอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 (สพป.ตรัง เขต 2) นางวัลภา จันทร์มีศรี ผอ.กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สพป.ตรัง เขต 2 บุคลากรที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาคีเครือข่ายในอำเภอรัษฎา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอรัษฎา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เพื่อร่วมกันลงนามการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายโครงการพัฒนาความปลอดภัยและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา แสดงถึงการระดมสรรพกำลังการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบตามแนวทางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

สพป.ตรัง เขต 2 ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาระบบและกลไกในการดูแลความปลอดภัยและปัญหาสุขภาพจิตให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ภายใต้แนวคิดนวัตกรรมการเสริมสร้างความปลอดภัย รูปแบบ 5 ป ของ สพป.ตรัง เขต 2 ประกอบด้วย 1. ปกป้อง สนับสนุน 2. ปลูกฝัง ส่งเสริม 3. ประสานสัมพันธ์  4. ปลอบใจ สร้างขวัญ และ 5. ปราบปราม ส่งต่อ

ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาด้านความปลอดภัยและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นหนึ่งในการต่อยอดพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา ปกป้องคุ้มครองนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความเข้มแข็งอยู่ในสิ่งแวดล้อมและระบบการศึกษาได้อย่างปลอดภัย มีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภัยยาเสพติด ภัยอุบัติเหตุ ภัยทางจิต  ภัยธรรมชาติ ภัยจากสื่อและเทคโนโลยี โรคอุบัติซ้ำ และโรคอุบัติใหม่ การดำเนินงานด้านความปลอดภัยตามกระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ขั้นตอน จึงเป็นสิ่งสำคัญและเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา ตลอดจนเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวบังเกิดผลเป็นรูปธรรม