วันที่ 28 มิถุนายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ (Thailand Zero Dropout) โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงทั้ง 10 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) และกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นผู้แทนลงนาม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
.
โอกาสนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้ประชาคมทั้งในประเทศไทย และในระดับนานาชาติได้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ของประชากรเด็กและเยาวชนทุกคนอย่างแท้จริง โดยหลังจากท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกันบูรณาการฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3-18 ปี เป็นรายบุคคลระหว่างหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทั้งสิ้น 21 หน่วยงานทั่วประเทศไทย กับฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย พบว่า ปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา ยังมีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาของทั้ง 21 หน่วยงาน ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา จึงมีมติรับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout รวม 4 ประการดังต่อไปนี้
.
1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม
3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและการพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง
4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn
.
พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการค้นหา ติดตาม และดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพเพื่อพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและของการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ทุกจังหวัดจะ Kick off กระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ โดยมีแอปพลิเคชัน “Thai Zero Dropout” สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ
.
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทความรับผิดชอบสำคัญในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ คือ มอบหมายให้ทุกส่วนราชการในสังกัด ศธ. ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ อาทิ สนับสนุนข้อมูลนักเรียน นักศึกษา ในทุกสังกัด เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและการจัดการฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกระบบการศึกษา สนับสนุนทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการสำรวจค้นหาและให้ความช่วยเหลือให้กับเข้าสู่ระบบการศึกษา สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ รวมถึงการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นในรูปแบบอื่น หรือได้รับการพัฒนาและการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมและความช่วยเหลือทุกมิติ และสร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการและสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนตามบริบทของพื้นที่ ป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือการเรียนรู้ได้
“การเดินหน้าสู่ Thailand Zero Dropout จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือร่วมใจกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล จากนี้ไปเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทุกคนจะอยู่ในฐานข้อมูลของรัฐบาล และจะได้รับการค้นหา ช่วยเหลือในทุกมิติปัญหา เพื่อส่งต่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของทุกคน เพราะเด็กทุกคนคืออนาคต และเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของประเทศไทย และของคนไทยทุกคน” รมว.ศธ. กล่าว
- ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. “สุรินทร์” เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ประเมินการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในกลุ่มพื้นที่การศึกษา เขตตรวจราชการที่ 13 - 12 กันยายน 2024
- สพฐ.เชิงรุกลดภาระครูต่อเนื่อง เน้นย้ำ “ประเมินเลื่อนเงินเดือนครู” งดจัดนิทรรศการ งดทำรูปเล่มเอกสาร ใช้เทคโนโลยีช่วย - 11 กันยายน 2024
- สพฐ. กำชับเขตพื้นที่ฯ เคร่งครัดมาตรการกำกับเหตุไม่ปลอดภัย - 11 กันยายน 2024