สพฐ. ชื่นชม 25 โรงเรียนกองทุนฯ 3 จังหวัด เติมความรู้ครูดูแลนักเรียนพักนอน จิตใจเข้มแข็ง พร้อมเรียนดี มีความสุข

วันที่ 29 มิถุนายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้พบปะให้กำลังใจผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพครูผู้ดูแลนักเรียนประจำพักนอน ณ หอประชุมโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ กาญจนบุรี โดยมี นายไพชยา พิมพ์สารี ผอ.สพม.กาญจนบุรี พร้อมด้วย รอง ผอ.สพม. ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบดูแลนักเรียนประจำพักนอนทั้งโรงเรียนในสังกัด สพม.กาญจนบุรี และโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาภายใต้การดูแลของพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ในจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี และมีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ครูผู้ดูแลนักเรียนประจำพักนอนของโรงเรียนในสังกัด สพม.กาญจนบุรี 16 โรง และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกองทุนการศึกษา ในจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ที่มีนักเรียนประจำพักนอน รวมทั้งสิ้น 100 คน

.

สำหรับการประชุมวันนี้ เป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการดูแลนักเรียนประจำพักนอนให้กับครู รวมถึงสร้างแนวทางและมาตรการการดูแลนักเรียนประจำพักนอนให้กับโรงเรียน และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างครูผู้ดูแลนักเรียนพักนอนของโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาภายใต้การดูแลของพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ในจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ดร.ปรเมศร์กลิ่นหอม จากกลุ่มจิตวิทยาและแนะแนวทางการศึกษา คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ผอ.อาลัย พรหมชนะ นายอนันต์ กัลปะ อาสาสมัครพื้นที่โครงการกองทุนการศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี และ ดร.วรวุฒิ แสงเฟือง ประธานอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม โครงการกองทุนการศึกษา มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรมในครั้งนี้ด้วย

.

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า การดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจคือสิ่งที่ สพฐ. ให้ความสำคัญ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นำลงสู่การปฏิบัติได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น สิ่งสำคัญของโรงเรียนที่มีหอพักนอน คือ ครูที่อยู่ในหอพักต้องอยู่กับนักเรียนตลอดเกือบ 24 ชม. การที่ครูได้อยู่กับนักเรียนเป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้เห็นพฤติกรรมของนักเรียน นอกจากการเรียนหนังสือ กิจกรรมยามว่าง ได้เห็นสังคมของนักเรียน การพูดคุยกัน ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งถือเป็นอีกมุมมองหนึ่งซึ่งจะช่วยให้ครูเข้าหานักเรียนได้เร็วกว่าคนอื่น เมื่อนักเรียนมีปัญหา สิ่งที่สำคัญในจุดนี้คือ การก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ บางครั้งปัญหาที่นักเรียนมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ รู้สึกว่าก้าวผ่านไม่ไหว แต่ครูที่อยู่ในหอพักจะมองเห็นก่อนใคร จะสามารถดึงเด็กออกจากวังวนปัญหาของเขามาได้ สำคัญที่สุดในพฤติกรรมเหล่านี้ บางครั้งไม่พบพฤติกรรมบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่เกิดปัญหาและตัดสินใจในเวลาอันสั้น และเกิดสิ่งที่คาดไม่ถึง คนที่จะช่วยและทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ดีที่สุด คือครูที่อยู่ใกล้ชิดนักเรียนที่สุด ครูที่อยู่กับนักเรียนนานๆ โดยมีเทคนิคในการเข้าถึงจิตใจนักเรียนสามารถโน้มน้าวจิตใจนักเรียนได้

.

“บุคคลหลักที่จะพานักเรียนออกจากปัญหาได้ คือ ครู โดยครูต้องมีเทคนิคในการเข้าถึงจิตใจนักเรียน และกลายเป็นที่ไว้วางใจของนักเรียน เป็นไอดอลของนักเรียนได้ เมื่อใดก็ตามที่นักเรียนเกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ครูจะคุมนักเรียนได้โดยการโน้มน้าวใจเป็นตัวอย่างและพากันก้าวเดินได้ เทคนิคที่ครูหอนอนสามารถนำไปใช้กับนักเรียนในหอนอน คือการทำทุก ๆ อย่างด้วยใจ ซึ่งทุก ๆ คนจะรับรู้ด้วยความเมตตา การรับฟัง การให้อภัย การพูดเชิงบวก สร้างความไว้วางใจจนเกิดการยอมรับในตัวคุณครู สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในใจของนักเรียน ซึ่งเด็กแต่ละคนยังอยู่กับโรงเรียน อยู่กับ สพฐ. อีกยาวไกล จึงขอฝากงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ งานที่นั่งในใจนักเรียนให้กับครูหอนอนทุก ๆ คนค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว