วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครบรอบ 21 ปี ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1 โดยเข้าร่วมประกอบพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถานที่และได้เข้าพบปะบุคลากรที่ประกอบพิธีละหมาด จากนั้นได้เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพป.ยะลา เขต 1 เพื่อมอบนโยบายการขับเคลื่อนการศึกษา โดยมี นายอาดุลย์ พรมแสง ผอ.สพป.ยะลา เขต 1 กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายตอฮีรน หะยีเลาะแมผอ.สพป.ยะลา เขต 2 คณะผู้บริหาร สพป.ยะลา เขต 1-3 สพม.ยะลา ผู้อำนวยการโรงเรียนและอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรของ สพป.ยะลา เขต 1 จำนวน 250 คน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมรายา สพป.ยะลา เขต 1 ซึ่งก่อนการมอบนโยบายได้รับชมวีดิทัศน์ของสำนักงาน รับฟังการนำเสนอผลการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยนางสาวเกศรินทร์ ชูหมื่นไวยรอง ผอ.สพป.ยะลา เขต 1 เป็นผู้นำเสนอ
.
โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา ความว่าการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีสมรรถนะอย่างเต็มตามศักยภาพ มีความสามารถทัดเทียมได้ในระดับสากลนั้น ต้องอาศัยความทุ่มเทของผู้บริหารเขตพื้นที่ และผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างมาก ดังที่ได้เห็นจากการรายงานผลการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดีมีความสุข” ในวันนี้ พบว่าทางเขตพื้นที่และโรงเรียนได้ขับเคลื่อนงานร่วมกันเป็นอย่างดี มีผลงานให้เห็นอย่างหลากหลาย สะท้อนให้เห็นว่าการร่วมมือร่วมใจกันสามารถขับเคลื่อนนโยบายลงสู่ห้องเรียน จนเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นได้จริง
.
“สุดท้ายนี้ขอฝากในเรื่องของการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ที่จะต้องให้นักเรียนได้คุ้นชินกับการใช้ข้อสอบลักษณะ PISA สามารถที่จะพัฒนาการคิดของนักเรียน การให้คุณครูได้นำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ 3 ชุด 17 กิจกรรม ไปใช้ให้ตรงตัวชี้วัดและสะท้อนผลการนำไปใช้ การยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่อยากให้คุณครูได้นำข้อสอบในคลังข้อสอบสพฐ. SIBS ไปใช้ การพัฒนาเด็กตามเป้าหมายของหลักสูตรที่จะต้องพัฒนาให้ครบ 3 ส่วน ทั้งมาตรฐาน ตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และเรื่องสุดท้ายคือสถานีแก้หนี้ครู ของ สพฐ. ที่อยากให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน เพื่อที่จะให้คุณครูที่เข้าร่วมโครงการและมีหนี้สิน ได้มีกำลังใจในการปฏิบัติงาน และสามารถที่จะกลับเข้าห้องเรียนมาสอนนักเรียนได้อย่างมีความสุข” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ. เปิดงานรณรงค์ “การอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ส่งเสริมเด็กไทยก้าวทันโลก - 12 กันยายน 2024
- สพฐ. Kick Off เฝ้าระวังเหตุ และสร้างความปลอดภัย “นักเรียนลพบุรีปลอดภัย และห่างไกลยาเสพติด” ณ จังหวัดลพบุรี - 11 กันยายน 2024
- รองเลขาฯ กพฐ. “ธีร์” ร่วมพิธีประกาศเกียรติคุณครูและบุคลากรฯดีของแผ่นดิน “สร้างคนดีให้แผ่นดิน ครั้งที่ 2” - 10 กันยายน 2024