สพฐ. ไม่เอาไว้ ใช้มาตรการเด็ดขาด ผอ.รร. อนาจารนักเรียน หากผิดจริง ปลดออก-ไล่ออก เท่านั้น!

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงข่าวที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ลวนลามและกระทำอนาจารนักเรียนกว่า 30 คน ว่าตนได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวจากคณะครูและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาต้นสังกัดแล้ว และจะไม่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เด็ดขาด โดยขณะนี้ สพฐ. มีคำสั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าวเข้ามาประจำที่ส่วนราชการของ สพฐ. โดยให้มารายงานตัวที่ สพฐ. ส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 แล้ว เพื่อเปิดทางให้การสืบสวนในพื้นที่เป็นไปอย่างสะดวก ปรากฏข้อเท็จจริง และป้องกันไม่ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานบุคคล หลักฐาน และเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนผู้ถูกกระทำ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อเด็กเป็นการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างร้ายแรง และไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งยังขัดต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่โรงเรียนควรจะต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด ผู้บริหารและครูจึงควรเป็นบุคคลที่ทำให้นักเรียนอยู่ในโรงเรียนแล้วรู้สึกปลอดภัย ไม่ควรมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว และหากพบว่ามีมูลความผิดเป็นไปตามข้อกล่าวหาของครูที่มาร้องเรียน หรือเป็นไปตามข้อกล่าวหาของนักเรียนและผู้ปกครอง บทลงโทษทางวินัย คือการปลดออก-ไล่ออก เท่านั้น

“ผมได้สั่งการให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงลงพื้นที่ไปสอบพยานแวดล้อม ทั้งสอบครู และผู้ปกครอง ขอเวลาไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการดำเนินการทางวินัย เพราะเราต้องให้ความเป็นธรรมครบถ้วน ถ้าพบว่ามีมูลก็จะให้ออกจากราชการไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็จะรายงานเรื่องนี้ไปยังสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคู่กันไป ส่วนคดีอาญาเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการเอาผิด โดยที่ผ่านมา สพฐ. ได้กำชับมาโดยตลอดว่าไม่ให้มีเหตุการณ์การล่วงละเมิดนักเรียนเกิดขึ้น มีทั้งการออกเป็นนโยบาย ออกเป็นมาตรการ และได้มีการประชุมชี้แจงเน้นย้ำผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้น โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยสูงสุดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องไม่มีการกลั่นแกล้งรังแกกัน ต้องไม่มีเรื่องยาเสพติด แต่เนื่องจาก สพฐ. มีโรงเรียนจำนวนมากเกือบ 30,000 โรง มีครู 500,000 กว่าคน เพราะฉะนั้นในคนจำนวนมาก อาจมีบางคนที่ออกนอกคอกบ้าง แต่หากพบคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เราก็จะดำเนินการโดยเฉียบขาดทันที ทั้งนี้ ผมได้กำชับไปแล้วว่าต่อไปทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ต้องไม่อยู่กับนักเรียนตามลำพัง การดูแลนักเรียนต้องอยู่ในที่เปิดเผย และถ้าผู้ปกครองหรือนักเรียนประสบเหตุก็สามารถแจ้งตรงมาที่ สพฐ. เพื่อรีบดำเนินการแก้ไขตรวจสอบทันที” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว