สพฐ. ผนึกกำลัง 7 ชาติอาเซียน ร่วมประชุมระดับภูมิภาคด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์

วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ “Regional Meeting on Nuclear Science and Technology Education: Empowering Leaders” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ระหว่างวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจาก 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ บรูไน และประเทศไทย รวมจำนวนทั้งสิ้น 22 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

.

สำหรับการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญในการหารือเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (NST) รวมถึงการสำรวจแนวโน้มและความก้าวหน้าล่าสุดด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังมีการเสริมสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อร่วมกันจัดทำกลยุทธ์การส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้แทนจากแต่ละประเทศประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) หน่วยงานที่กำหนดนโยบายทางการศึกษา 2) หน่วยงานดำเนินการด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 3) ผู้พัฒนาหลักสูตร ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละประเทศ และจะมีการจัดทำรายงานร่วมกันเพื่อเสนอกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศสมาชิกอาเซียน

.

นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความครอบคลุมที่มากขึ้นในการศึกษา STEM ผ่านโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการเสริมสร้างการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (NST) ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา โดยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะเข้าถึงนักเรียน 10 ล้านคนในเอเชียและแปซิฟิก เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในด้าน STEM ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่ความครอบคลุมทั่วโลกในการศึกษาวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์

.

โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งยังเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านการศึกษาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในภูมิภาคนี้ และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีความปลอดภัย ขอขอบคุณ IAEA สำหรับการสนับสนุนและความร่วมมือที่มีค่าในการจัดการประชุมครั้งนี้ และขอบคุณผู้แทนจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมและมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมในการอำนวยความสะดวกในการจัดงาน การแสดงในพิธีเปิด และจะเป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ของผู้เข้าร่วมการประชุม อีกทั้งยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนในการจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วย สภาการศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นต้น

.

“ที่สำคัญ การประชุมระดับภูมิภาคครั้งนี้ยังมีการจัดทำรายงานร่วมกันและเสนอแนะกลยุทธ์การพัฒนาการศึกษาเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. เองก็จะพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เด็กและเยาวชนของเราต้องตามโลกยุคปัจจุบันให้ทัน พร้อมพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และสุขภาพกาย-จิตใจ ให้ลูกๆ นักเรียนของเราเติบโตอย่างมีคุณภาพ เต็มตามศักยภาพ มีความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว