สพฐ. สร้างโอกาสการเรียนรู้ ป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับความห่วงใยเรื่องนักเรียนแขวนลอย ซึ่งอาจนำไปสู่กรณีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ชัดเจน นั้น

.

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ (Thailand Zero Dropout) เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นแกนนำร่วมกันในการบูรณาการฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3-18 ปี เป็นรายบุคคล ระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษาทั้ง 21 หน่วยงานทั่วประเทศ กับฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย พบว่าปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา ยังมีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุดังกล่าว กว่า 1.02 ล้านคน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาของทั้ง 21 หน่วยงาน กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง เลขาธิการ กพฐ. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาฯ ร่วมกับ 10 หน่วยงานพันธมิตร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 และเริ่ม Kick off กระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา

.

สำหรับนักเรียนแขวนลอย หมายถึง นักเรียนที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อนักเรียนในชั้นต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดทำขึ้นตอนต้นปีการศึกษาหรือมีชื่ออยู่ในสมุดประเมินผลรายวิชา และขาดเรียนนานโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีตัวตน มิได้ลาออกจากโรงเรียน และโรงเรียนไม่สามารถจำหน่ายรายชื่อออกจากทะเบียนนักเรียนได้ เนื่องจากเป็นนักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ (ป.1 – ม.3) ซึ่งจากการรายงานข้อมูลจำนวนนักเรียนจากระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center : DMC) ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2567 พบว่า มีนักเรียนแขวนลอยจำนวนทั้งสิ้น 11,562 คน โดยในการจัดสรรงบประมาณตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะจัดสรรให้เฉพาะนักเรียนที่มีตัวตนอยู่ในสถานศึกษาเท่านั้น โดยไม่ได้จัดสรรให้กับนักเรียนแขวนลอย ดังนั้น สพฐ. จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียน เพื่อให้สถานศึกษาและเขตพื้นที่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการจำแนกนักเรียนแต่ละประเภท เพื่อนำไปสู่การค้นหา ช่วยเหลือ ส่งต่อ ดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหานักเรียนแขวนลอยได้อย่างตรงจุดต่อไป

.

ทั้งนี้ สาเหตุที่จะจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนได้ มี 5 สาเหตุ ดังนี้ 1) นักเรียนย้ายสถานศึกษา 2) นักเรียนเสียชีวิต 3) นักเรียนอายุพ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ 4) นักเรียนเรียนจบการศึกษา กรณีใดกรณีหนึ่ง (นักเรียนเรียนจบชั้น ป.6 สำหรับสถานศึกษาที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนระดับ ม.ต้น หรือนักเรียนเรียนจบชั้น ม.3) และ 5) นักเรียนหยุดเรียนติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่มีตัวตนของผู้ปกครอง และนักเรียน

อยู่ในพื้นที่และไม่แจ้งย้ายที่อยู่ โดยในกรณีนักเรียนระดับชั้น ม.ต้น จะจำหน่ายนักเรียนได้เมื่อนักเรียนมีอายุ

พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ แต่โรงเรียนต้องมีกระบวนการติดตาม คือ 1) นักเรียนขาดเรียนเป็นเวลานาน โดยไม่ทราบสาเหตุ โรงเรียนดำเนินการติดตามและแจ้งให้ผู้ปกครองนำนักเรียนมาเรียน พบว่ายังมีตัวตนอยู่แต่ไม่สามารถนำเด็กมาเรียนได้ ให้ระบุว่า “มีตัวตนไม่สามารถจำหน่ายออกจากทะเบียนได้” 2) นักเรียนไม่จบการศึกษาระดับชั้น ม.ต้น เนื่องจากติด 0 ร มส ให้สถานศึกษาติดตามและเร่งรัดให้ผู้เรียนมาดำเนินการตามระเบียบการวัดและประเมินผลโดยเร็ว หากไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบได้ ให้ระบุ “มีตัวตน ไม่สามารถจำหน่ายออกจากทะเบียนได้” และ 3) นักเรียนไม่มาเรียนต่อเนื่องเป็นเวลานาน สถานศึกษาได้ดำเนินการติดตามตามระเบียบทุกขั้นตอนแล้ว พบว่า “ไม่มีตัวตน” และผู้ปกครองไม่แจ้งย้าย ให้รายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อพิจารณาดำเนินการติดตามต่อไป โดยจะยังไม่สามารถจำหน่ายนักเรียนได้จนกว่าอายุจะพ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ส่วนในกรณีนักเรียนระดับชั้น ม.ปลาย จะจำหน่ายนักเรียนได้ โรงเรียนต้องมีกระบวนการติดตาม คือ 1) นักเรียนไม่มาเรียนต่อเนื่องเป็นเวลานาน สถานศึกษาได้ดำเนินการติดตามตามระเบียบทุกขั้นตอนแล้ว และพบว่า “ยังมีตัวตนอยู่ แต่ไม่มาเรียน” ให้จำหน่ายออกจากทะเบียนนักเรียนไว้ก่อน 2) นักเรียนไม่จบการศึกษาระดับชั้น ม.ปลาย เนื่องจากติด 0 ร มส ให้สถานศึกษาติดตามและเร่งรัดให้ผู้เรียน มาดำเนินการตามระเบียบการวัดและประเมินผล หากไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบได้ ให้จำหน่ายออกจากทะเบียนนักเรียนไว้ก่อน และ 3) นักเรียนไม่มาเรียนต่อเนื่องเป็นเวลานาน สถานศึกษาได้ดำเนินการติดตามตามระเบียบทุกขั้นตอนแล้ว พบว่า “ไม่มีตัวตน และผู้ปกครองไม่แจ้งย้าย” ให้จำหน่ายออกจากทะเบียนนักเรียนได้

.

“สพฐ. ไม่เคยนิ่งนอนใจในการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชน จึงได้พัฒนาฐานข้อมูลและลงพื้นที่ติดตาม ค้นหาเด็กวัยเรียนให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอขอบคุณภาคีภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ/เขต/ตำบล รวมถึงตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.หมู่บ้าน ที่เป็นกำลังสำคัญร่วมกับคณะครูและบุคลากรเขตพื้นที่ทั่วประเทศ ในการติดตาม ค้นหา และพากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่ง สพฐ. ไม่เพียงติดตามพาเด็กให้กลับสู่โรงเรียน แต่ยังมีการดูแลช่วยเหลือ สนับสนุนค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าหนังสือเรียนให้กับนักเรียนทุกคน รวมทั้งค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน และค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขยายโอกาส เพื่อให้เด็กและเยาวชน “เรียนดี มีความสุข” ไม่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกต่อไป” โฆษก สพฐ. กล่าว