สพฐ. เดินหน้าจัดหลักสูตรปฐมวัย พัฒนาเด็กต้องการจำเป็นพิเศษ เรียนดีมีความสุขถ้วนหน้า

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้ตรวจเยี่ยมการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการหลักสูตร ตามหลักสูตรปฐมวัยสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ พ.ศ. 2562 (ครั้งที่ 2) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ มีแนวทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาในการจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษาพิเศษให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงสรุปผลการวิพากษ์ และวางแผนอบรมการนำร่างหลักสูตรไปใช้ในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของศูนย์การศึกษาพิเศษ โดยมี นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และคณะทำงาน เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมฮิพ กรุงเทพมหานคร

.

โดย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้เข้าร่วมรับฟังการสรุปรายงานผลการจัดทำหลักสูตรปฐมวัยสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่คณะทำงาน รวมถึงให้คำแนะนำแนวทางการจัดทำหลักสูตร และได้ฝากแนวทางในการดำเนินการต่อไป ว่า ควรดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน กระบวนการของการพัฒนาหลักสูตร โดยให้ประสานกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการร่วมกันทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการจัดทำหลักสูตรปฐมวัยสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ให้มีความชัดเจน ตรงกับความต้องการจำเป็นพิเศษ และอาจจะต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรของศูนย์การศึกษาพิเศษด้วย

ทั้งนี้หลักสูตรปฐมวัยสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ

ทางด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อาทิ ศ. ดร.สมเกตุ อุทธโยธา ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ดร.พิกุล เลียวสิริพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ. ดร.ชนิดา มิตรานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ศึกษานิเทศก์ และครูจากศูนย์การศึกษาพิเศษ ซึ่งสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ มีการพัฒนาหลักสูตรปฐมวัยสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และนำไปทดลองใช้ ปีพ.ศ. 2562 มีการติดตามและประเมินผลการนำไปใช้ พบว่าหลักสูตรควรมีการปรับปรุงให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้เรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษ สศศ. ได้นำข้อมูลที่พบนำเสนอแก่ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อปรับปรุงหลักสูตรโดย 1) ดำเนินการประชุมแนวทางการบริหารจัดการหลักสูตรฯ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 14-16 ภุมภาพันธ์ 2567 2) ดำเนินการจัดส่ง (ร่าง) หลักสูตร ฯ และ (ร่าง) คู่มือฯ ไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษ ทุกแห่ง และได้จัดประชุมวิพากษ์ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 และ 3) ประชุมสรุปแนวทางการบริหารจัดการหลักสูตรฯ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2567 นี้

.

“การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งในด้านทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต สุขภาพกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง เป็นพลเมืองดีของสังคม ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” และยกระดับการศึกษาในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว