สพฐ. ร่วมหนุน 3 กระทรวงใหญ่ “มท.-ศธ.-อว.” ทำ MOU เพิ่มความร่วมมือสางปัญหายาเสพติด ลดผู้เสพหน้าใหม่ปกป้องอนาคตชาติ

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระหว่าง 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มท. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. พร้อมผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 3 กระทรวงเข้าร่วม ณ สวนมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย

.

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นการเห็นพ้องร่วมกันว่าปัญหายาเสพติดเป็นภัยอันตราย ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมที่บั่นทอนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญจะต้องใช้มาตรการป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน มิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการลดจำนวนผู้เสพ (ผู้ติดยาเสพติด / Demand) โดยเฉพาะผู้เสพหน้าใหม่ (New Face) ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา จะต้องอาศัยความร่วมมือกับสถานศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ฯลฯ เพื่อป้องกันนักเรียน นักศึกษา เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนั้น ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่าในรูปแบบใด จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ขึ้นโดยมีเจตจำนงร่วมมือกันดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

.

ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักภายใต้ MOU คือ สร้างการมีส่วนร่วม ตระหนักถึงโทษของยาเสพติด และยินยอมเข้าร่วมกิจกรรมการป้องกันยาเสพติดของบุคลากร 3 กระทรวง รวมถึงเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาด้วยความสมัครใจโดยปราศจากการบังคับ ดำเนินการโดยเน้นย้ำในเรื่องของการไม่ให้กระทบสิทธิ์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะสิทธิ์เด็กและเยาวชน และมีระบบการจัดเก็บข้อมูล การรายงานผล การบำบัดรักษาอย่างเป็นความลับ นอกจากนี้ จะผลักดันให้โรงเรียน สถานศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และ อว. จัดให้มีระบบการเฝ้าระวัง สอดส่อง สังเกตตรวจตราการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกรูปแบบ รวมถึงหากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องจัดให้มีระบบการคัดกรอง และประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต และบำบัดฟื้นฟูตามความเหมาะสม  รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้บริเวณรอบโรงเรียน สถานศึกษา เป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติดและอบายมุขอย่างเป็นรูปธรรม หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายกับบุคคล หรือสถานประกอบการที่เป็นแหล่งอบายมุข ให้บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป