วันที่ 3 สิงหาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของหน่วยพัฒนาภาคใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ณ โรงแรมเจบี หรรษา หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมการพัฒนาจากภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จำนวน 39 เขตพื้นที่ฯ แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 30 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 9 เขต ผอ.เขตพื้นที่ฯ รอง ผอ.เขตพื้นที่ฯ ศึกษานิเทศก์ ทีมพี่เลี้ยง ผอ.รร.คุณภาพต้นแบบ และคณะทำงาน เข้าร่วมในพิธี รวมทั้งสิ้นกว่า 900 คน
.
โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ได้ให้แนวทางแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในประเด็น “ผู้บริหารกับการยกระดับคุณภาพการศึกษา” โดยให้ข้อคิด คัมภีร์ในการบ่มเพาะนักเรียน 3 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1: ตัวชี้วัดหรือมาตรฐาน ตัวชี้วัดที่ทำให้ทราบว่าเด็กมีมาตรฐานหรือไม่ วัดผลด้วย 771 ตัวชี้วัดหลัก ให้เห็นว่าเด็กมีการพัฒนาตามตัวชี้วัดนั้น ๆ สำหรับตัวชี้วัดที่เหลือ ครูผู้สอนต้องบูรณาการรายวิชาและจัดแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน องค์ประกอบที่ 2: วิธีการตรวจสอบว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรบ้าง นั่นคือการวัดสมรรถนะของผู้เรียน ไม่ควรคิดว่าสอนอย่างเต็มที่แล้วเด็กจะได้รับไปครบถ้วน ความต้องการคือเด็กที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ ไม่ใช่แค่เด็กที่ทำข้อสอบเก่งเท่านั้น ต้องส่งเสริมให้เด็กสามารถประมวลความรอบรู้และนำมาวิเคราะห์แก้ปัญหาได้ ทำอย่างไรถึงจะสอนเด็กให้สามารถนำความรู้ที่มีอยู่รอบตัวมาแก้ปัญหาได้ และองค์ประกอบที่ 3: ปลูกฝังให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และลักษณะนิสัยที่ดีงาม แสดงออกถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ ที่จะติดตัวเด็กไปใช้ในอนาคต
.
ในส่วนของกิจกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทพื้นที่สถานศึกษาของตนเองได้ อาทิ การยกระดับผลการประเมิน PISA โดยให้นักเรียนเข้าสู่ระบบ Computer-Based Test (PISA Style) เพื่อขับเคลื่อน PISA ในสถานศึกษาโดยใช้ชุดพัฒนาและแบบฝึก ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สร้างความคุ้นเคยด้าน Computer-Based Test การยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา (PISA & O-NET) การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับครูและบุคลากร ให้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 รวมถึงมีศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เพื่อพัฒนาครูมืออาชีพสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ผ่านการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และโครงการการประเมินโรงเรียนต้นแบบการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ประจำปี 2567 มีการคัดเลือก 3 ระดับ โครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการศึกษาทางไกล (DLTV) ให้มีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างครบวงจร โครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมตอนต้น ระยะที่ 2 (IDL2) มีการปรับกระบวนการการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ ทันสมัย และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
.
“นอกจากนี้ ในส่วนของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. มีโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อาทิ โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรวม ในระดับจังหวัด โครงการพัฒนาความเข้มแข็งในการบริหารจัดการเรียนรู้ในรูปแบบห้องเรียนคู่ขนานสำหรับผู้เรียนออทิสติก ผ่านทางระบบออนไลน์ โครงการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ได้แก่ 1)โครงการพัฒนาครูและบุคลากรในศูนย์การศึกษาพิเศษด้านการบูรณาการกิจกรรมดนตรีสู่การพัฒนานักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 2)โครงการพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมของศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลด้วยทีมบูรณาการข้ามศาสตร์ และ 3)โครงการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กที่มีแนวโน้มมีความต้องการจำเป็นพิเศษในระดับปฐมวัย ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในภาพรวม ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- สพฐ.เชิงรุกลดภาระครูต่อเนื่อง เน้นย้ำ “ประเมินเลื่อนเงินเดือนครู” งดจัดนิทรรศการ งดทำรูปเล่มเอกสาร ใช้เทคโนโลยีช่วย - 11 กันยายน 2024
- สพฐ. กำชับเขตพื้นที่ฯ เคร่งครัดมาตรการกำกับเหตุไม่ปลอดภัย - 11 กันยายน 2024
- สพฐ. จับมือสมาคมวงโยธวาทิตแห่งประเทศไทย ส่งเสริมทักษะดนตรีเยาวชน ก้าวสู่ระดับโลก - 11 กันยายน 2024