วันที่ 5 สิงหาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาในโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เชิงพื้นที่ เพื่อเป็นผู้นำด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมจำนวน 234 คน ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร
.
โอกาสนี้ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “การเสริมสร้างสมรรถนะความฉลาดรู้สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน” โดยได้ให้แนวทางว่า บทบาทของผู้บริหาร มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะบทบาทของผู้บริหารเป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้น ส่งเสริมให้การบริหารงาน และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประสบผลสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ ด้วยการปลูกจิตสำนึกให้รู้สึกผิดชอบชั่วดี ตระหนักในคุณงามความดี พร้อมทั้งยึดแนวทางการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และบริหารจัดการตามบริบทของสถานศึกษา มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ด้วยการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นผู้นำในการพัฒนาวิชาการ พร้อมประสานความร่วมมือกับชุมชน ด้วยการสร้างเครือข่ายบูรณาการความร่วมมือช่วยเหลือทุกภาคส่วน รวมถึงเป็นผู้นำในการบริหารคุณภาพ โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และเป็นผู้สร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากร
.
สำหรับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ในด้านผลการประเมิน PISA และ O-NET นั้น จะใช้วิธีการแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงชั้น อาทิ ระดับปฐมวัย จะส่งเสริมการใช้หนังสือนิทาน เพื่อพัฒนาการคิด ผสมผสานการเล่นโดยใช้สถานการณ์ในการคิดแก้ปัญหา กิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ Active
Learning ตามแนวคิดมอนเตสเซอรี่, ไฮสโคป, EF และกิจกรรมตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยปฐมวัย ระดับประถมศึกษา จะใช้กิจกรรมตามโครงการ
บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประถมศึกษา (ป.1-3) การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พลังสิบ (ป.4-6) และแบบฝึกเสริมความสามารถด้านการอ่าน (ป.1-6) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะใช้การจัดการเรียนรู้ทางด้าน
คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (Inspiring Instruction) การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พลังสิบ แบบฝึกสมรรถนะความฉลาดรู้ 3 ด้าน และระบบข้อสอบ PISA รูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะใช้การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พลังสิบ ระบบการทดลองทำข้อสอบ PISA รูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และแบบ Paper โดยในปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ในระดับประถม-มัธยมต้น จะใช้การจับคู่พัฒนาร่วมกันระหว่างโรงเรียนที่มีผล O-NET ต่ำ กับโรงเรียนพี่เลี้ยงที่มีผลคะแนน O-NET สูง และในระดับมัธยมปลาย จะมีการติดตามการใช้และผลการพัฒนาที่เกิดขึ้นด้วย
.
“สพฐ. ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวมทั้งระบบ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. โดยเฉพาะในด้านทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อให้เด็กและเยาวชนในวันนี้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต และต้องขอขอบคุณผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่านที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนนโยบายลงสู่ห้องเรียนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สร้างสมรรถนะให้เกิดกับผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้นักเรียนและครู “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน และสร้างโอกาสทางการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับโรงเรียนในโครงการฯ โดยในปีงบประมาณ 2567 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 117 โรงเรียน แบ่งเป็น ศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ ระดับประถมศึกษา จำนวน 55 โรงเรียน และศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 62 โรงเรียน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ต่อไป
- “ธนุ” รับข้อสั่งการเสมา 1 ปลูกสำนึกรักป่าแก้ปัญหาต้นเหตุอุทกภัย“น้ำไม่มีป่า” - 14 กันยายน 2024
- เลขาธิการ กพฐ. ร่วมทีม ”เสมา 1“ มอบถุงยังชีพนักเรียน-ครู-บุคลากรประสบภัยอุทกภัยเชียงราย - 14 กันยายน 2024
- สพฐ. ปลื้ม “อัตลักษณ์วิถีลำพูน ลำปาง” ผลสำเร็จที่ลงสู่ผู้เรียน จากนโยบาย “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ของเครือข่ายการศึกษาขับเคลื่อน โดย สพม. - 13 กันยายน 2024