รองเลขาธิการ กพฐ. “พัฒนะ” เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชานักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 ประจำปี 2567


วันที่ 10 สิงหาคม 2567 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชานักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 ประจำปี 2567 พร้อมด้วย นายมงคลชัย รัตนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร นายชาคริต ชาญชิตปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นายคมสันต์ ชุมอภัย ประธานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการโรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา คณะผู้บริหาร คณะครูของโรงเรียนในเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนทั้ง 31 โรงเรียน ผู้เข้าร่วมประชุม ผู้มีเกียรติทุกท่าน และนักเรียน ณ โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา จังหวัดสกลนคร
.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินงานในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการ 220 แห่ง โดยบริหารจัดการในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือจำนวน 9 เครือข่าย แบ่งตามเขตภูมิศาสตร์ของประเทศ เพื่อการใช้ทรัพยากรและองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียน โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องใช้หลักสูตรการสอนพิเศษที่ทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาและได้รับการส่งเสริมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งได้รับการส่งเสริม สนับสนุนให้ไปนำเสนอผลงานทางวิชาการในระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนานักเรียนในโครงการให้มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาตนเองทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ของโลกปัจจุบัน
.
ด้วยวันนี้โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา ได้จัดกิจกรรม การประชุมวิชาการของนักเรียน โครงการห้องเรียนพิเศษฯ กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาทักษะ ส่งเสริมศักยภาพทางวิชาการ ส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน ทั้ง 31 โรงเรียน ได้จัดทำโครงงานและมาร่วมจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและดียิ่ง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาตนเอง และเรียนรู้ต่อยอดวิชาการได้ต่อไป

Cr.ภาพข่าว : สพม. สกลนคร