สพฐ. ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ย้ำเขตพื้นที่ดูแลช่วยเหลือนักเรียน-ครูเต็มที่

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี  ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย ปี 2567 ผ่านระบบ Zoom ณ ห้องประชุม DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมผู้อำนวยการสำนักของ สพฐ. เข้าร่วมประชุม

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้ ให้ทุกพื้นที่ระมัดระวังล่วงหน้า โดยเฉพาะโรงเรียนหรือสำนักงานเขตฯที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากไม่ทราบล่วงหน้าก็ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด รวมถึงเมื่อน้ำลดจะมีทิศทางไหลไปทางไหน พื้นที่ที่เราอยู่เป็นพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ จึงขอฝากไปยัง ผอ.เขตให้เตรียมการ สั่งการ แจ้งเตือนไปยังสถานศึกษาทุกแห่ง ขอให้ทำงานในเชิงรุก และป้องกัน ร่วมทำงานกับทุกฝ่าย หากหน่วยงานใดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและมาขอใช้สถานศึกษาเป็นที่พักพิง ก็ให้ความร่วมมือสนับสนุน แต่หากโรงเรียนใดได้รับความเสียหายหรือต้องการความช่วยเหลือก็ให้ประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นได้เช่นกัน ทั้งนี้ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรเป็นลำดับแรก และคำนึงถึงทรัพย์สินทางราชการด้วย และขอให้ทำแผนที่ วอร์รูม แผนเชิญเหตุ และซักซ้อม เฝ้าระวังว่าโรงเรียนใดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ตั้งทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่โดยเร่งด่วน เพื่อทำการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

.

“ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะทำงาน รมว.ศธ. มีความห่วงใยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ และได้สั่งการให้ สพฐ. ติดตามดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน สพฐ. จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้นำหลักในการประสานงานดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้ พร้อมทั้งประสานงานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และให้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนเน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจผู้บริหารสถานศึกษา ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้จัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังเขตพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว