รองเลขาฯ กพฐ. ลงพื้นที่มอบสิ่งของเครื่องใช้และอาหารแห้งให้โรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่าน

.

วันที่ 24 สิงหาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นางสาวกมลลักษณ์ ลอยพูน ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามและเฝ้าระวังเรื่องร้องทุกข์และข้อมูลข่าวสาร ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการลงพื้นที่มอบสิ่งของเครื่องใช้และอาหารแห้งให้โรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมี นายวิชาญ เกษเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 พร้อมด้วย นางนัฑวิภรณ์ จันต๊ะพรหมมา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2 และ นายสิงห์เพชร สุทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาน่าน ร่วมให้การต้อนรับ ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1

.

โอกาสนี้ นายธีร์ ภวังคนันท์ ได้นำความห่วงใยจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ส่งถึงโรงเรียน นักเรียนและครู ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมในครั้งนี้ และมอบสิ่งของเครื่องใช้และอาหารแห้งให้โรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านดอน (ศรีเสริมกสิกร) โรงเรียนราชานุบาล โรงเรียนบ้านม่วงตึ๊ด โรงเรียนบ้านหาดเค็ด โรงเรียนบ้านไหล่น่าน และโรงเรียนริมฝั่งน่านวิทยา รวมถึงโรงเรียนสังกัด สพป.น่าน เขต 2 และโรงเรียนสังกัด สพม.น่าน จากนั้น รองเลขาธิการ กพ. และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนนันทบุรีวิทยาในพระบรมราชานุเคราะห์ และโรงเรียนบ้านนาหนุน 2 อำเภอท่าวังผา สพป.น่าน เขต 2 ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ พร้อมทั้งได้พบปะคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถต่อไป

.

ทั้งนี้ สพฐ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้นำหลักในการประสานงานดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้ พร้อมทั้งประสานงานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และให้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนเน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจผู้บริหารสถานศึกษา ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้จัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังเขตพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ภาพ : มานพ เถรหมื่นไวย สพป.น่าน เขต 2

ข่าว : ทีมประชาสัมพันธ์ สพฐ.