สพฐ. ร่วมศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ด้านการศึกษา ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 จ.บุรีรัมย์

วันที่ 26 สิงหาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมผู้บริหารหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนหน่วยงานด้านการศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) ร่วมลงพื้นที่ศึกษาดูงานยังสถานศึกษาในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning การเสริมทักษะชีวิต การพัฒนานวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยี AI ในการจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ นักเรียนและครู ให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 

.

โอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ไปศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ โดยโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม สังกัด สพม.บุรีรัมย์ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียนจำนวน 3,355 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 212 คน มีผลงานโดดเด่นในเรื่องของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ส่งผลให้นักเรียนสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในอัตราที่สูง โดยโรงเรียนเป็นศูนย์โอลิมปิกวิชาการสาขาฟิสิกส์ ได้รับการคัดเลือกในโครงการโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานศึกษาที่มีความโดดเด่นรับเครื่องหมายคุณภาพพิเศษแห่ง สพฐ. ระดับ 3 ดาว ในสาขา ความโดดเด่นการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน ความโดดเด่นการจัดการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น และความโดดเด่นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนสีเขียว อนุรักษ์พลังงาน จาก กฟผ. ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสถานศึกษาออนไลน์ (ITA Online) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระดับ AA อีกทั้งยังได้รับการรับรองการประเมินภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม IQA Award ระดับประเทศ และได้รับรางวัลสถานศึกษาต้นแบบการบริหารจัดการและดำเนินงานระบบแนะแนว ระดับยอดเยี่ยม ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งเดินหน้าขับเคลื่อนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการพัฒนาความเป็นเลิศรอบด้านและให้ผู้เรียนมีความมั่นคงในชีวิต รวมถึงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นครูที่มีมาตรฐาน เป็นครูมืออาชีพ ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างทันยุค และผลักดันโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพที่มีการจัดการเรียนการสอนเป็นมาตรฐาน รองรับ Education Hub และติด 1 ใน 10 ของประเทศ ต่อไป

.

ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมคณะผู้แทนหน่วยงานด้านการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย ติมอร์-เลสเต สำนักเลขาธิการซีมีโอฯ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ได้ไปศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และโรงเรียนมีชัยพัฒนา ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการเป็นโรงเรียนทางเลือกต้นแบบของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลงานโดดเด่นจากโครงการ “การพัฒนาโรงเรียนเชิงระบบเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาตามนโยบายเรียนดีมีสุข” ซึ่งมีนวัตกรรมเชิงระบบที่จะนำมาใช้สำหรับการพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียน ประกอบด้วย 1.นวัตกรรมเพื่อพัฒนาปัญญาภายในโดยใช้จิตศึกษา ซึ่งมีหลักคิดที่จะให้ผู้เรียนได้ตระหนักรู้ในตัวเอง มีสติที่ชำนาญ สามารถไตร่ตรองการตัดสินใจกระทำที่มีจริยธรรม เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนทุกคนได้สร้าง Self, Self-esteem, Self-control ที่จะนำไปสู่ Self-concept ก่อนอายุ 15 ปี 2.นวัตกรรมพัฒนาปัญญาภายนอก เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ได้อย่างแท้จริง เกิดสมรรถนะนำสิ่งที่เรียนไปใช้ในชีวิตจริงได้ 3.นวัตกรรมพัฒนาครูด้วย PLC (Professional Learning Community) เป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นภายในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวา เพื่อเปลี่ยนการทำงานจากต่างคนต่างทำให้เป็นร่วมมือกันเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนครูทุก ๆ คนสามารถเป็นครูโค้ชได้ และ 4.นวัตกรรมพัฒนาผู้ปกครอง CoP (Community of Prop) เป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้ปกครองได้เข้ามาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อลูกในแต่ละช่วงวัย ได้มีความเข้าใจต่อการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของลูก และมีความเข้าใจต่อโรงเรียนเพื่อเกื้อหนุนร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง

.

ขณะที่ โรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นโรงเรียนประจำที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีจำนวนนักเรียน 82 คน และครูจำนวน 22 คน เกิดจากดำริของนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้รับใบอนุญาตและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ที่ต้องการให้เด็กนักเรียนในชนบทมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับเด็กนักเรียนในเมือง เพื่อสร้างเยาวชนให้เป็นคนดีของประเทศ มีพร้อมทั้งทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ โดยมีการคัดเลือกนักเรียนจากทั่วประเทศ มีคณะกรรมการคัดเลือกเป็นนักเรียนรุ่นพี่และคณะครู ซึ่งนักเรียนไม่ได้จ่ายค่าเล่าเรียนเป็นเงินแต่นักเรียนและผู้ปกครองต้องทำความดีช่วยเหลือสังคม ฝ่ายละ 400 ชั่วโมงต่อปี พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ฝ่ายละ 400 ต้นต่อปี โดยโครงสร้างของอาคารเรียนและอาคารต่าง ๆ สร้างด้วยไม้ไผ่ มีโดมไม้ไผ่เป็นอาคารอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ถือเป็นลักษณะพิเศษของโรงเรียนมีชัยพัฒนา จึงเรียกว่า “โรงเรียนไม้ไผ่” หรือ Mechai Bamboo School  ปัจจุบันโรงเรียนได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่การพัฒนาและช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนสำหรับผู้ด้อยโอกาส และหมู่บ้านในชนบทรอบ ๆ เขตบริการของโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาชนบทที่สำคัญ 2 โครงการ มีชื่อว่า “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน” อีกทั้งโรงเรียนยังได้รับการคัดเลือกเป็นต้นแบบโรงเรียน ในโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ ภาคเอกชน และความร่วมมืออื่น ๆ จากสถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย

.

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2567 เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย 3 การประชุมหลัก ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน (ASED) ครั้งที่ 13 การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม (APT EMM) ครั้งที่ 7 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา (EAS EMM) ครั้งที่ 7 โดยการประชุมทั้งหมดสำเร็จไปได้ด้วยดี และบรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วน ซึ่งตลอดระยะเวลาการประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และอาเซียนบวกแปด (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย) ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม การผลิตและการบริการ รวมถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 14 จะจัดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าในปี พ.ศ. 2569 โดยสาธารณรัฐสิงคโปร์

Cr.ภาพข่าว : เครือข่ายประชาสัมพันธ์ สพฐ.