สพฐ. รวมใจสร้างนักเรียนภูมิใจเป็นคนของพระราชา ในงานมหกรรม “ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” จ.เลย

วันที่ 31 สิงหาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ “ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” จังหวัดเลย และอุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง จัดโดย สพป.เลย เขต 3 ร่วมด้วย สพป.เลย เขต 1,2 และ สพม.เลย หนองบัว ลำภู ทีมสพฐ. นำโดย ผอ. สวก. สทศ. ส่วนราชการในอำเภอด่านซ้าย และผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วม ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 3
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เมื่อได้รับชมการแสดงได้เห็นบรรยากาศของงาน รู้สึกซาบซึ้งที่ชาวจังหวัดเลยได้ร่วมกันจัดงานอย่างสมพระเกียรติ ได้เห็นโอกาสของเด็กที่ได้ดำเนินการบ่มเพาะ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ได้หล่อหลอมนักเรียนภายใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ และสังคมกำลังมองในเรื่องของการบ่มเพาะนักเรียน ดังนั้นสิ่งที่เราได้ดำเนินการคือเรื่องความจงรักภักดี ที่อยู่ในจิตใจ นักเรียนของ สพฐ. และสิ่งที่สำคัญเห็นถึงการซึมซับเหมือนกับรุ่นของเราได้ถ่ายทอดผ่านนักเรียน ที่หน่วยงานการศึกษาทำงานกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องขอขอบคุณ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ การถ่ายทอดเรื่องราวสถาบันหลักของชาติ เกิดเสถียรภาพเรื่องการวางรากฐานทางสังคม จนนำไปสู่การปลูกฝังในจิตใจของนักเรียน รวมไปถึงการวางรากฐานความเป็นเลิศของการศึกษาในจังหวัดเลยเป็นต้นแบบที่ดีที่สุด และสิ่งที่สำคัญในวันนี้ จังหวัดเลย ได้มีการขับเคลื่อนที่มีความเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ได้เห็นการจัดการเรียนการสอนที่ตระหนักถึงคุณค่าของอัตลักษณ์ตัวตน ส่งเสริมให้เกิดความหวงแหนในสถาบันหลักของชาติ ได้เห็นการวางรากฐานและสถานการณ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเราโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ โชคดีกว่าประเทศอื่นในโลกที่มีศูนย์รวมจิตใจ ที่เกิดจากความศรัทธา ที่พร้อมเข้าใจกัน ได้มีพระมหากษัตริย์ที่ทำเพื่อปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความรู้สึกที่ทุกคนพร้อมจะถ่ายทอด และพร้อมที่จะทำเพื่อลูกหลานของเรา ได้รับทราบสิ่งที่ดีงามเหล่านี้สืบต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น คงไว้ซึ่งความเป็นคนของพระราชา
.
“ดิฉันขอชื่นชมและฝากถึงการจัดการเรียนการสอนว่า ไม่เน้นเพียงท่องจำ แต่ควรส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าใจและประยุกต์ใช้ (apply) โดยให้นักเรียนนำองค์ความรู้จากพระมหากษัตริย์ ในราชวงศจักรี นำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างในชีวิตประจำวัน โดยคุณครูกระตุ้นด้วยคำถาม นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นภาษาของตนเอง ไม่จำเป็นต้องจำเยอะให้พูดเป็นธรรมชาติ และให้นักเรียนฝึกคิด ปฏิบัติและถ่ายทอดได้ จับประเด็นใจความสำคัญและแสดงทัศนคติของตนเองออกมาและต่อยอดจากการเรียนรู้ โดยการผลิต content ด้วยภาษาของตนเอง โดยทำเป็นคลิปสั้นๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok อีกทั้งขอฝากผู้บริหารสถานศึกษา ในการจัดการเรียนรู้บูรณาการแหล่งเรียนรู้ ใกล้สถานศึกษา เพื่อจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในชีวิตจริงให้กับนักเรียนตามบริบทของสถานศึกษา สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นที่มุ่งเน้นปลูกฝังความรักในสถาบันของชาติและน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ฯ ในสังคมร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ตามแนวทางและวิธีการ ด้วยสื่อหรือแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ในรูปแบบ Active Learning โดยบูรณาการเข้ากับแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และมีการใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุก ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ ยังได้รับฟังการเสวนาวิชาการใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ผ่านการเล่าเรื่องถ่ายทอดเรื่องราวสมรภูมิรบพระราชา “ประวัติวีรกรรม สมรภูมิพระราชา กับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน” โดย พ.อ.โกสินภทรณ์ ฒ โสหาญ หัวหน้ากิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 28 นายกองเอก ธารณา คชเสนี ครูจิตอาสา 904 ร.ต.อ.สุวิน วิริยะวัฒน์ ข้าราชการตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ นางกรรณิการ์ ภาเข็ม ผู้อำนวยการโรงเรียนเย็นศิระบ้านหมากแข้ง และนายประดิษฐ์ แก้วยม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหลวง ผู้นำเสวนา ชมนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ราชวงจักรี 10 รัชกาล รวมถึงร่วมถ่ายทำวีดิทัศน์ การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเย็นศิระบ้านหมากแข้ง ณ อุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเสียสละ เพื่อประชาชนในการนำกำลังทหารเข้าสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างกล้าหาญ นำมาสู่ความซาบซึ้งใจของประชาชนในพื้นที่บ้านหมากแข้งส่งต่อมายังเยาวชน นักเรียนในปัจจุบัน