สพฐ. – มจธ. – AIS ปลื้ม นักเรียนไทยโชว์ไอเดียสร้างสรรค์ ประกวดคลิปสร้างสุขภาวะดิจิทัล “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024”

วันที่ 2 กันยายน 2567 นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมพิธีประกาศผลและมอบรางวัลกิจกรรมประกวดคลิปวิดีโอสุขภาวะดิจิทัล “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นายเอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สพฐ. รวมถึงคณะนักเรียนและครูที่ส่งผลงานเข้าประกวด จำนวน 25 โรงเรียน เข้าร่วม ณ บริเวณ SCBX Next Tech ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

สำหรับกิจกรรม “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” เป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. กับ AIS และ มจธ. เป็นเวทีสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมความสามารถด้านคอนเทนต์ครีเอเตอร์ โดยให้น้องๆ นักเรียนในสังกัด สพฐ. ได้โชว์ไอเดียผลิตผลงานในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้น บอกเล่าเรื่องราวเพื่อเน้นย้ำ ให้ความรู้ หรือแนะนำการใช้งานออนไลน์ได้อย่างเหมาะสมจากหัวข้อการใช้งานออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้เนื้อหาหลักของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ 4P4ป ประกอบไปด้วย 1) Practice: ปลูกฝังการใช้งานความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2) Personality : ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 3) Protection : ป้องกันภัยออนไลน์บนโลกออนไลน์ 4) Participation : ปฏิสัมพันธ์ที่ดีด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม โดยแบ่งออกเป็นระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 150,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร โดยตัดสินจากความสมบูรณ์ของข้อมูลและความน่าเชื่อถือ ความชัดเจนและความเข้าใจในเนื้อหา ความเหมาะสมและการเชื่อมโยงกับหัวข้อ ความคิดสร้างสรรค์ และคุณภาพของการผลิตสื่อ ซึ่งงานนี้ได้รับความสนใจจากโรงเรียนทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 500 ทีม นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนให้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถควบคู่ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมองค์ความรู้และเพิ่มพูนทักษะดิจิทัล สามารถต่อยอดผลงานสู่สื่อการเรียนรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวว่า กิจกรรม “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” นับเป็นกิจกรรมตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน เพื่อใช้ขีดความสามารถร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชนได้ตระหนักถึงการใช้งานออนไลน์อย่างปลอดภัย และสร้างทักษะที่สำคัญสำหรับอนาคตของพวกเขา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยให้กลุ่มนักเรียนได้เข้าใจถึงความเสี่ยงจากการใช้งานบนโลกออกไลน์ แต่ยังเป็นการช่วยสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบเพื่อส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ผู้ปกครอง และชุมชนได้อีกด้วย ขอขอบคุณทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม และขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รับรางวัลจากกิจกรรมในครั้งนี้ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพลังของพวกเราทุกคนจะช่วยทำให้เราก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี เข้าใจทักษะดิจิทัลสามารถรับมือกับภัยออนไลน์ที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน

ด้านนายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สวก. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า กิจกรรม “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” เป็นกิจกรรมส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ผ่านการประกวดคลิปวิดีโอที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในปัจจุบันทักษะดิจิทัลและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา โดยการแข่งขันครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศได้สร้างสรรค์ผลงานคลิปวิดีโอที่สะท้อนถึงการใช้ทักษะและความรู้ที่ได้รับจากหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์”เพื่อเสนอแนะและเตือนสังคมถึงการใช้พื้นที่ออนไลน์อย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์ และนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถถ่ายทอดไปยังเพื่อน ๆ และครอบครัวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกทีมทั้ง 5 คน ซึ่งได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้ดูแลทีม และนักเรียนทีมละ 3 คน โดยทุกคนผ่านการอบรมหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” และเปลี่ยนจากผู้เรียนรู้ สู่ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อสังคม

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า กิจกรรม “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” ถือเป็นการต่อยอดความรู้ความเข้าใจหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่วันนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. นับเป็นกิจกรรมต้นแบบที่ช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะจากความสนใจของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เราเห็นถึงวิธีการเล่าเรื่องเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลในวิธีการที่หลากหลาย ขอขอบคุณ กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา คณะครู จากทุกโรงเรียนที่ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน ในกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้น้องๆ นักเรียนได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถควบคู่ไปการเติมเต็มความรู้เพื่อให้เด็กนักเรียนไทย ไม่ตกเป็นเหยื่อจากภัยไซเบอร์

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวเสริมว่า จากกิจกรรมการแข่งขันคลิปวิดีโอสั้นอุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024 ในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศ ในการผลิตผลงานที่เรียกว่าเป็นสื่อการสอนเพื่อเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่ยอดเยี่ยม เพราะเกิดจากกระบวนการคิด ออกแบบ และผลิตเนื้อหาโดยน้องๆ ที่ศึกษาจากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งในขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมให้นักเรียนมีความเข้าใจจนสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานที่ช่วยสร้างประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ได้อย่างแน่นอน

สำหรับผลการคัดเลือกคลิปวิดีโอสุขภาวะดิจิทัล ระดับประเทศ กิจกรรม “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge” มีรายชื่อผู้ชนะในประเภทต่างๆ ดังนี้

–  ระดับประถมศึกษา

หัวข้อที่ 1 Practice : ปลูกฝังการใช้งาน

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองเมืองกลาง สพป.ยโสธร เขต 2

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนบ้้านไม้ขาว สพป.ภูเก็ต

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนบ้านพร้าวเหนือ สพป.หนองคาย เขต 1

หัวข้อที่ 2 Personality : ปกป้องความเป็นส่วนตัว

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนสังข์อ่ำวิทยา         สพป.ปทุมธานี 1

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่         โรงเรียนวัดน้ำรัก (ประชาน้ำรัก) สพป.จันทบุรี เขต 2

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนบ้านโดมประดิษฐ์            สพป.อุบลราชธานี เขต 3

หัวข้อที่ 3 Protection : ป้องกันภัยออนไลน์

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนบ้านละหานทราย (คุรุราษฎร์บํารุงวิทยา) สพป.บุรีรัมย์ เขต 3

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต สพป.ภูเก็ต

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนวัดโพธิ์น้อย สพป.สุราษฎร์ธานีเขต 2

หัวข้อที่ 4 Participation : ปฏิสัมพันธ์ที่ดี

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนวัดปากน้ำ (ประสาทวิทยาคาร)           สพป.จันทบุรี เขต 2

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนเมืองเลย           สพป.เลย เขต 1

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่         โรงเรียนบ้านสามสบ สพป.เชียงใหม่ เขต 6

– ระดับมัธยมศึกษา

หัวข้อที่ 1 Practice : ปลูกฝังการใช้งาน

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนนาสาร สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 3

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนพิณพลราษฎร์ ตั้งตรงจิตร 12 สพป.พิษณุโลก เขต 2

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนชลบุรี “สุขบท”            สพม.ชลบุรี ระยอง

หัวข้อที่ 2 Personality : ปกป้องความเป็นส่วนตัว

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนระหานวิทยา         สพม.กำแพงเพชร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม  สพม.อุดรธานี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลตับเต่า (ไคร้สามัคคีวิทยา)  สพป.เชียงราย เขต 4

หัวข้อที่ 3 Protection : ป้องกันภัยออนไลน์

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร”     สพม.ปราจีนบุรี นครนายก

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่         โรงเรียนบ้านฟ้าเหลื่อม         สพป.ขอนเเก่น เขต 5

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนพระธาตุบังพวนวิทยา      สพม.หนองคาย

หัวข้อที่ 4 Participation : ปฏิสัมพันธ์ที่ดี

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนปางมะค่าวิทยาคม              สพม.กำแพงเพชร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนท่าช้างราษฎร์บำรุง          สพม.นครราชสีมา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนบ้านช่องเม็ก     สพป.ยโสธร เขต 2

และรางวัล Popular Vote ได้แก่ โรงเรียนหนองกุงวิทยาคม สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1