สพฐ.รณรงค์ใช้พลังงานสะอาดหนุนโรงเรียนติดโซล่าเซลล์ 

“ธนุ” ขับเคลื่อนนโยบายพลังงานสะอาด หนุนโรงเรียนติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เผยมีโรงเรียน-สพท. สมัครเข้าร่วมโครงการกับ กฟน.- กฟภ. แล้ว  2,452  แห่ง ยังเปิดรับสมัครร่วมโครงการต่อเนื่อง 

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ  โซล่าเซลล์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา เพื่อปลูกฝังการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ตามนโยบายการใช้พลังงานสะอาด ของรัฐบาล และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้ทำ MOU ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นั้น ล่าสุด มีโรงเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สมัครเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 2,452 แห่ง แบ่งเป็น สมัครเข้าร่วมโครงการกับ กฟน. 763 แห่ง จำแนกเป็น โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 495 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) 224  แห่ง โรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) 22 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 22 แห่ง  และ สมัครเข้าร่วมโครงการกับ กฟภ.จำนวน 1,689 แห่ง  จำแนกเป็น โรงเรียนสังกัด สพป. 1,178 แห่ง โรงเรียนสังกัด สพม. 470  แห่ง โรงเรียนสังกัด สศศ. 24 แห่ง และ สพท.17 แห่ง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีทั้งส่วนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารการสมัคร ส่วนที่ลงนามในสัญญาให้บริการ ส่วนที่ส่งข้อเสนอ และส่วนที่อยู่ระหว่างการติดตั้งโซล่ารูฟท็อป (Solar Rooftop)

.

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดมีโรงเรียนที่ได้รับการยื่นข้อเสนอการติดตั้งให้โรงเรียนพิจารณาแล้ว 19 แห่ง  ได้ลงนามในสัญญาให้บริการแล้ว 15 แห่ง อยู่ระหว่างติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ 9 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนคุรุประชาสรรค์  โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 (ฉะเชิงเทรา) โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ โรงเรียนย่านตาขาวรัฐชนูปถัมภ์ โรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม โรงเรียนบางประกอกวิทยาคม และได้รับการติดตั้งเสร็จแล้ว จำนวน 1 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดอินทาราม ซึ่ง สพฐ.จะดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโซล่าเซลล์ กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประกอบการพิจารณาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้พลังงานสะอาด ประหยัดค่าใช้จ่ายของสถานศึกษา  

.

“พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด โดยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษา ทั้งรูปแบบติดตั้งบนหลังคา หรือ บนพื้นดิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ที่โรงเรียนวัดอินทาราม กรุงเทพ ได้ติดตั้งโซล่า ขนาดที่ติดตั้ง 272.58 kWp พื้นที่ติดตั้ง 2,000 (ตรม.)  คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 330,000 kWh ต่อปี และคาดว่าค่าใช้จ่ายลดลงได้เฉพาะในส่วนของพลังงานไฟฟ้าประมาณ 524,7000 บาทต่อปี ทั้งนี้ ผมขอเชิญชวนโรงเรียนที่สนใจส่งใบสมัครเพิ่มเติมมาได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อตรวจสอบเอกสารสมัครแล้ว จะมีการประเมินศักยภาพของโรงเรียนต่อไป” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว.