วันที่ 8 กันยายน 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้ และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding “CODING Achievement Awards” ครั้งที่ 3 ระดับชาติ พร้อมมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรแก่ผู้ทำผลงานดีเด่น จำนวน 84 ราย โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 และผู้อำนวยการสำนักบริหารการมัธยมศึกษา นายชัยวุฒิ เลิศวนสิริวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางสาวโชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ รวมถึงคณะผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครู และนักเรียน กว่า 700 คน เข้าร่วม ณ โรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม กรุงเทพมหานคร
.
สำหรับกิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding “CODING Achievement Awards ครั้งที่ 3 ระดับชาติ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของครู พร้อมติดตามผลการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และส่งเสริมประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติในพื้นที่ โดยคัดเลือกแบบอย่างที่ดี ด้านการบริหาร การส่งเสริม และนวัตกรรมหรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้าน Coding ที่สามารถจัดเก็บเป็นองค์ความรู้และเผยแพร่เป็นแบบอย่างสู่สาธารณะ และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติงานด้าน Coding โดยมอบโล่รางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน และผู้จัดการเรียนรู้ Coding ที่มีผลงานดีเด่น รวมทั้งสิ้น 84 รางวัล โดยภายในงานมีการแสดงพิธีเปิดจากโรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม รวมถึงการอบรมเสวนาทางวิชาการ ช่วงที่ 1 เรื่อง “การจัดการเรียนรู้ผ่าน “Coding” ในศตวรรษที่ 21” และช่วงที่ 2 เรื่อง “ทิศทางใหม่ในการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ: บทบาทและความท้าทาย” เป็นต้น
.
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ Coding ในช่วงที่ผ่านมา มุ่งเน้นนักเรียนมีทักษะคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยเริ่มบรรจุวิชาวิทยาการคำนวณไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) และโรงเรียนเริ่มใช้หลักสูตรที่มีวิชาวิทยาการคำนวณในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งครูในโรงเรียนได้อบรมพัฒนาความรู้ จาก สพฐ. และ สสวท. ตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่ผ่านมาผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน สะสมประสบการณ์การจัดการเรียนรู้จนทำให้สามารถเกิดเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ดีเด่น สพฐ. และสสวท. จึงดำเนินการคัดเลือกผลงานดีเด่นผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน การจัดการเรียนรู้ของครูซึ่งเป็นผลงาน Coding Achievement Awards ครั้งที่ 3 ระดับชาติ และจัดงานนี้ขึ้นเพื่อให้ครูแลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ สามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนตามบริบทของตนเอง ซึ่งนี่จะเป็นก้าวต่อไปในการพัฒนากำลังคน เพราะช่วงที่ผ่านมา AI และเทคโนโลยีดิจิทัลมีความก้าวหน้าขึ้น จึงขอประกาศเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ก้าวทันความก้าวหน้าของโลก ทั้งการใช้ AI, Blockchain การสร้างพลเมืองดิจิทัลให้ตื่นรู้และมีคุณธรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลกต่อไป
.
ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สพฐ. มีการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา จัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพหุปัญญาให้กับผู้เรียน เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงตามแนวคิดที่หลากหลาย เช่น Active Learning, STEM Education, Coding ฯลฯ และกระบวนการส่งต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น AI ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อรองรับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ “IGNITE THAILAND” ของกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ.
.
“ปัจจุบันเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นทุกวัน การส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน Coding รวมถึงพหุปัญญาให้กับผู้เรียน จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนของเรามีองค์ความรู้ที่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ สพฐ. พร้อมที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ลงสู่ห้องเรียนและเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลดีเด่น 84 ผลงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารดีเด่น รวม 23 ผลงาน แบ่งเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพป. จำนวน 11 ผลงาน และสังกัด สพม. จำนวน 12 ผลงาน, ศึกษานิเทศก์ดีเด่น รวม 13 ผลงาน แบ่งเป็น ศึกษานิเทศก์ สังกัด สพป. จำนวน 9 ผลงาน และสังกัด สพม. จำนวน 4 ผลงาน, ครูดีเด่น รวม 48 ผลงาน แบ่งเป็น Unplugged Coding ระดับประถมศึกษา จำนวน 12 ผลงาน Unplugged Coding ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 12 ผลงาน Plugged Coding ระดับประถมศึกษา จำนวน 12 ผลงาน และ Plugged Coding ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 12 ผลงาน
- เลขาฯ กพฐ. เยี่ยมโรงเรียนในสุราษฎร์ฯ ชมบริหารจัดการได้ดี พร้อมเน้นย้ำดูแลให้เด็ก “เรียนดี มีความสุข” - 8 พฤศจิกายน 2024
- สพฐ. ร่วมมอบรางวัลบอร์ดเกมเชิงวิชาการชิงถ้วยพระราชทาน ยกระดับห้องเรียนยุคใหม่ - 8 พฤศจิกายน 2024
- สพฐ. ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี พ.ศ. 2567 - 8 พฤศจิกายน 2024