สพป.ตรัง เขต 2 จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ขั้นเฉพาะทางสำหรับผู้จัดกิจกรรมตามแนวทางบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ระดับปฐมวัย รุ่นที่ 1 – 9

วันพุธที่ 11 กันยายน 2567 นางพัทธนันท์ นิลพัฒน์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2  (สพป.ตรัง เขต 2) เป็นประธานในพิธีเปิดจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการขั้นเฉพาะทางสำหรับผู้จัดกิจกรรมตามแนวทางบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ระดับปฐมวัย รุ่นที่ 1 – 9 โดยมี ศึกษานิเทศก์ สพป.ตรัง เขต 2 ครูผู้สอนระดับปฐมวัย (School Teacher) ในสังกัด สพป.ตรัง เขต 2 วิทยากรแกนนำ (Local Network) วิทยากรเครือข่าย (Local Trainer) รวมทั้งหมด 137 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมโรงเรียนห้วยยอด (กลึงวิทยาคาร)

เพื่อสนับสนุนเพิ่มพูนความรู้ให้ครูผู้สอนระดับปฐมวัยสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ตามแนวทางโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ระดับปฐมวัย และระดับประถมศึกษา และเพื่อนิเทศ ติดตาม การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศและการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมโลกได้อย่างมีความสุข จึงได้ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) บริษัท นานมีบุ๊ค จำกัด และ บริษัท บี.กริม แอร์คอนดิชั่นนิ่ง จำกัด ภาคีเครือข่ายโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ภายใต้มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สร้างพื้นฐานการเรียนรู้ของเยาวชน และวางรากฐานการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการพัฒนาและออกแบบกิจกรรมการทดลองอย่างเป็นขั้นตอนและชัดเจน

นอกจากนี้ยังเน้นกิจกรรมที่เด็กสามารถลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (Hand on) และพัฒนานวัตกรรมเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตัวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กระดับปฐมวัยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนทางระบบนิเวศน์ สังคม เศรษฐกิจของประเทศไทยในโลกในอนาคต และเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร หรือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีจิตวิทยาศาสตร์ มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป