สพฐ. ปลื้ม “อัตลักษณ์วิถีลำพูน ลำปาง” ผลสำเร็จที่ลงสู่ผู้เรียน จากนโยบาย “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ของเครือข่ายการศึกษาขับเคลื่อน โดย สพม. 

วันที่ 13 กันยายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบนโยบายและให้กำลังใจผู้บริหารรวมถึงข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในพิธีเปิดงาน “มัธยมเดย์ ซอฟต์พาวเวอร์ อัตลักษณ์วิถี ลำปาง ลำพูน สู่สากล” (Mattayom’s Day: Local Identity of Lampang and Lamphun Towards Global Citizenship) จัดโดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลำปาง ลำพูน โดยมี นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธี นางนภาพร พงษ์ขัน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลำปาง ลำพูน เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน จำนวน 27 หน่วยงาน ผู้บริหารโรงเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ในสังกัด สพม.ลำปาง ลำพูน เข้าร่วม ณ โรงเรียนลำปางกัลยาณี จังหวัดลำปาง

.

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การใช้แหล่งเรียนรู้อัตลักษณ์วิถี บูรณาการการจัดการเรียนรู้ที่เป็น Active Learning มุ่งพัฒนาทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 และเป็นคนดี มีสัมมาชีพ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ที่บูรณาการการใช้แหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบท มีความโดดเด่น เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนในท้องถิ่น เพื่อเชื่อมโยงสู่ “Soft Power” ในพื้นที่จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน โดยมีกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 1. การแสดงพิธีเปิดตามอัตลักษณ์วิถีลำปาง ลำพูน 2. นิทรรศการมีชีวิต Soft Power ของโรงเรียน 3. ผลการดำเนินงานของโรงเรียนตามนโยบายและจุดเน้น 4. การนำเสนอวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการเรียนรู้ Active Learning อัตลักษณ์วิถี 8+1 กลุ่มสาระ 5. การนำเสนอ PA ของผู้บริหารสถานศึกษา 6. การแสดงผลงานของเครือข่ายการศึกษา และ 7. การแข่งขัน “PISA Challenge” เป็นต้น

.

โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. รวมถึงว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการการจัดการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และความต้องการของท้องถิ่นไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด พัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้บูรณาการการใช้แหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ ทั้งบุคคล วิถีท้องถิ่น สถานที่ และสถาบันหรือหน่วยงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าและความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในการบอกเล่าถึงความเป็นมาและความภาคภูมิใจของตนเอง รวมทั้งเสริมสร้างทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการมีงานทำของผู้เรียนที่เป็นอัตลักษณ์วิถีในบริบทของสถานศึกษาที่มีอยู่ทุกแห่ง เพื่อก้าวสู่เวทีโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

.

ทั้งนี้ เห็นรายละเอียดของการจัดการเรียนรู้ ที่ออกมาเป็น project ที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้รวมทุกอย่างในการหล่อหลอมนักเรียน ทำให้วันนี้เราได้ภาคภูมิใจในเรื่องของอัตลักษณ์วิถีของลำปาง ลำพูน ไปสู่ Soft Power สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ร่วมกันในการบูรณาการ ไม่ใช่แค่เนื้อหาสาระวิชา แต่เป็นการบูรณาการร่วมมือกันทำงานของแต่ละสาระกลุ่มวิชาทั้งหมดในโรงเรียน กลายเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ของ 43 โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการดึงเครือข่ายเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาช่วย ทำให้ระบบการทำงานเกิดการเข้มแข็งเต็มที่ รวมถึงทีมของผู้ว่าและรองผู้ว่าฯ ที่ทำให้เห็นถึงความชัดเจนของการเกิดอัตลักษณ์ท้องถิ่นชุมชนของจังหวัด และเครือข่ายวัฒนธรรม จนเกิดมาเป็น Product ซึ่งเด็กต้องมีความตระหนักและลงมือทำ คิดออกมาเป็นแบรนด์ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า Literacy คือสามารถนำไปใช้ได้ ทำให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอด มาเป็นการ Create ในที่สุด ต้องขอชื่นชมที่สามารถจัดงานได้อย่างลงตัว มีความสมดุล อยู่บนพื้นฐานของคำว่าอัตลักษณ์ ซึ่งพบได้ที่นี่ที่เดียว ต่อยอดจากสิ่งที่เป็น Generation รุ่นนี้ ไปสู่ Generation รุ่นใหม่ได้อย่างงดงาม และการดำเนินงานในลักษณะแบบนี้ เป็นการสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันจากการทุ่มเทอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคุณครูของแต่ละห้อง รวมถึงปราชญ์ชุมชน ที่ทำให้เกิดอัตลักษณ์วิถี ให้ความรู้เพิ่มเติมที่สามารถต่อยอดได้อย่างเต็มที่ ล้วนแล้วแต่ช่วยกันบ่มเพาะทำให้เกิด ability และ competency เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนเอง จนกลายเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์อยู่ที่ตัวนักเรียนซึ่งเด็กรุ่นนี้จะสามารถสื่อสารไปยังเด็กรุ่นเดียวกันให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาต่อยอดจนเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างสง่างามต่อไป

.

“อีกเรื่องที่ขอชื่นชม คือ มีการใช้ PISA Challenge เข้ามาทำให้เกิดองค์ความรู้ เป็นแนวทางให้เกิดการอ่าน การคิดวิเคราะห์ ประเด็นเชื่อมโยง Content และสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่เราจะทำให้เด็กได้หยิบองค์ความรู้ที่เรียนในห้องเรียน กลายเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เกิดเป็น Literacy ของจริง ซึ่งต้องขอบคุณเครือข่ายต่างๆ ที่เข้ามาร่วมกันทำงานไม่ให้เกิดช่องว่างรอยต่อ แต่เกิดเป็นสะพานที่เชื่อมโยงกัน นำมาสู่ประสิทธิภาพของงานในวันนี้ และอยากให้ Best Practice ที่จัดแสดงในงานนี้ กลายเป็น Best Practice ของจังหวัด ทั้ง 2 จังหวัดได้อย่างลงตัว ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกๆ คน ในทั้ง 43 โรงเรียน และเครือข่ายที่เข้มแข็ง ที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจโดยทั่วกัน เพื่อให้นักเรียนของเราได้ครบในสิ่งที่เป็นสมดุลและอัตลักษณ์ต่างๆ ยังคงอยู่ต่อไป โดยนักเรียนเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเผยแพร่สู่สาธารณะชนอย่างเต็มที่ ด้วยภาษาเดียวกันอย่างร่วมสมัย จากอดีตสู่ปัจจุบัน ผ่านนักเรียนที่มีศักยภาพสูง จนเกิดเป็น Story ที่เข้มแข็ง และเกิดความภาคภูมิใจไปด้วยกัน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว