สพฐ. ประชุม ผอ.สพท. ยุคใหม่ เดินหน้าสานต่อ “เรียนดี มีความสุข”

วันที่ 15 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้พบปะผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ พร้อมแจ้งข้อราชการสำคัญและนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. อาทิ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึง ผอ.สพท. และรอง ผอ.สพท. ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 77 จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักและบุคลากรของ สพฐ. เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ณ ศูนย์ประชุม NICE สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี พร้อมถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง OBEC Channel

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีที่ได้มาพบกับทุกท่าน ที่เป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ขอให้ทุกท่านขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12-13 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาในหลายด้าน ทั้งนี้ สพฐ. ต้องปรับตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและของโลก เราต้องดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษา ดูแลสภาพจิตใจนักเรียนและครู ป้องกันปัญหายาเสพติดไม่ให้เข้าไปในโรงเรียน รวมถึงอาชญากรรมไซเบอร์ต่างๆ ที่แพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งภัยธรรมชาติ ที่ต้องเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือให้ทันท่วงทีอยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ลงถึงโรงเรียนและห้องเรียนได้อย่างดี ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีความเข้าใจถึงการดำเนินงานของเรา แต่เราจะไม่หยุดพัฒนาอยู่เท่านี้ เราจะเดินหน้าปรับปรุงระบบราชการ เพิ่มคุณภาพคนไทยวัยทำงาน และทำงานในเชิงรุกและเชิงลึกต่อไป เพื่อให้เกิดการ “ปฏิวัติการศึกษา พัฒนาประเทศ” ตามแนวทางของ รมว.ศธ. เกิดขึ้นได้จริง

“สำหรับการดำเนินงานของ สพฐ. ในปึงบประมาณ 2568 นั้น ขอให้ยึดหลัก “รู้เรา รู้โลก รู้เท่าทัน และรู้จริง” โดยรู้เรา คือ เราต้องรู้บริบทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงรู้นโยบาย ทิศทาง เป้าหมายของส่วนกลาง และรู้จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค ที่เรามีอยู่เพื่อนำมาพัฒนางานของเราให้ดียิ่งขึ้น ส่วนรู้โลก คือ เราต้องรู้ทิศทางการศึกษาโลก รู้แนวโน้มความต้องการและการเปลี่ยนแปลงในทิศทางโลกต่างๆ และรู้ถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อนำมาปรับปรุงและก้าวให้ทันโลกยุคใหม่ ขณะที่รู้เท่าทัน คือ เราต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาขึ้นทุกวัน ทั้งข้อดีข้อเสียต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรู้เท่าทันความพลิกผันเปลี่ยนแปลง เพราะโลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และรู้เท่าทัน ก็คือ เราต้องรู้ข้อมูลเชิงลึก ทั้งของโรงเรียน บุคลากร บริบทพื้นที่ โดยติดตามและลงพื้นที่ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และต้องแม่นยำในเรื่องกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ให้พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ด้วย เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

จากนั้น ได้มีการนำเสนอผลการบริหารจัดการองค์กร ผลการปฏิบัติงานที่ภาคภูมิใจ หรือผลงานที่ประสบผลสำเร็จตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ/นโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 และนโยบายเร่งด่วนของ สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีเนื้อหาตามหลักการ 5W1H คือ Who What When Where Why และ How ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีผลงานยอดเยี่ยม จำนวน 18 เขต ที่ผ่านการคัดเลือกจากการแบ่งกลุ่มเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา และยังมีการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อ “บทบาทผู้บริหารองค์กรในการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานสู่การส่งเสริมธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ” โดย นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และหัวข้อ “Mindset การสร้างความสุขในการทำงานสู่วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง สร้างปัจจัยส่งเสริมความสุขในองค์กร – ประเมินความสุขในการทำงาน” โดย นายอานนท์ ตั้งกิตติทรัพย์ และคณะวิทยากร เป็นต้น