วันที่ 18 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย รองโฆษก ศธ. เข้าร่วมการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 32/2567 โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารหน่วยงานใน ศธ. และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting นับเป็นการประชุมประสานภารกิจครั้งแรกของรัฐมนตรีใหม่ หลังจากแถลงนโยบายและมอบแนวทางขับเคลื่อนการศึกษาในรอบปีต่อไป โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขอให้มีแผนระยะ 4 ปี ตามวาระของคณะรัฐมนตรีด้วย รวมทั้งการหารือระหว่างผู้บริหารองค์กรหลักที่มีการเปลี่ยนตำแหน่ง เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง
.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากสถานการณ์น้ำท่วม สป. รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ (16 สิงหาคม-17 กันยายน 2567) โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 30 จังหวัด มีสถานศึกษาและหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ รวม 544 แห่ง ทั้งนี้ ได้ขอให้มีการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในสถานศึกษาและหน่วยงาของ ศธ. โดยเฉพาะในพื้นที่ติดหรือใกล้แม่น้ำที่มีความเสี่ยงและเฝ้าระวัง ทั้งในการเตรียมพร้อมก่อนเกิดเหตุ การเยียวและรับมือกับผลกระทบน้ำท่วม ตลอดจนการป้องกันในอนาคต ผมได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้รับทราบถึงการของบกลาง ให้แก่โรงเรียนและสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งมีสถานศึกษาหลายแห่งไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ อาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอน ชุดนักเรียน ได้รับความเสียหาย ดังนั้น ขอให้ทุกองค์กรหลักเร่งรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอของบกลางช่วยเหลือหน่วยงานและสถานศึกษาโดยเร็ว ณ ขณะนี้จากการรายงานความเสียหายเบื้องต้น คาดว่าอาจต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือเยียวยากว่า 200 ล้านบาท
.
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า การรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของ สพฐ. และ สสวท. ได้มีการวิเคราะห์ผลสอบ PISA 2022 แบบองค์รวม แบ่งเป็น 3 ส่วน พร้อมการวางแผนแนวทางแก้ไข ได้แก่
1) นักเรียน ไม่คุ้นเคยกับข้อสอบ การทำข้อสอบด้วยคอมพิวเตอร์ และไม่เห็นความสำคัญ
แนวทาง : ให้สถานศึกษาทุกสังกัดฝึกทำข้อสอบแก่นักเรียน ม.1-3
2) ครู ไม่สามารถจัดการเรียนการที่พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ ข้อสอบในห้องต่างจากข้อสอบ PISA ครูจบไม่ตรงวุฒิ ครูประถมศึกษาต้องสอนเด็กมัธยมศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาส
แนวทาง : จัดทำชุดพัฒนาความฉลาดรู้นำไปใช้ในห้องเรียน 3 โดเมน พร้อมจัดอบรมพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้และนำชุดพัฒนาไปใช้
3) ผู้บริหาร ยังไม่ให้ความสำคัญของการสอบ PISA ผู้ปกครองไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญ
แนวทาง : จัดประชุมชี้แจงผู้บริหารระดับโรงเรียน เขตพื้นที่ จังหวัด และส่วนกลาง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อดีและทักษะที่เด็กจะได้จากการทำข้อสอบ PISA และมีการติดตามการดำเนินงานต่อเนื่อง
.
“สำหรับการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ 3 โดเมนไปใช้ในห้องเรียนแก่นักเรียนชั้น ม.2, ม.3 จำนวน 662,300 คน รวมทั้งสถานศึกษาในสังกัด สช. ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเตรียมขับเคลื่อนฯ แก่ครูกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์และศึกษาสงเคราะห์ 52 โรงเรียน ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ช่วงเดือนตุลาคม 2567 นี้ และในเรื่องของการขับเคลื่อนฯ ขอให้ดูและรวบรวมตัวเลขของสถานศึกษาในแต่ละหน่วยงานที่ยังดำเนินการไม่ครบ 100% เพื่อนำมาสรุปวิเคราะห์ถึงสาเหตุและหาแนวทางแก้ไข ทั้งในมิติของโรงเรียนและนักเรียน ได้เน้นย้ำถึงคุณภาพให้ครอบคลุมเด็กทุกกลุ่ม และช่วยดูเด็กที่ไม่ผ่าน ช่วยให้ผ่าน ขออย่าทิ้งเด็กกลุ่มนี้” รมว.ศธ. กล่าว
- “สพฐ. เร่งเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย พร้อมวางมาตรการทัศนศึกษาเข้ม” - 2 ตุลาคม 2024
- นายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล เดินทางเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ - 2 ตุลาคม 2024
- สพฐ. เร่งหารือสำนักงบ-กรมบัญชีกลาง ปมจ้างเหมาธุรการโรงเรียน - 1 ตุลาคม 2024