.
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานเปิดการประชุมการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลเมืองวิถีใหม่ (Civic Education) สำหรับ 4 ช่วงวัย ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2567 โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาหลักสูตรและเทคนิคกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างพลเมือง เด็กและเยาวชนวิถีใหม่ (Civic Education) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารจาก กกต. (นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการ กกต. และนายบัณฑิต วงษา ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพพลเมือง) ผู้บริหาร สพฐ. (นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ) นักวิชาการศึกษา สพฐ. ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน และคณะทำงาน รวม 60 คน
.
สำหรับการประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากมีการพัฒนาหลักสูตรและเทคนิคกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างพลเมือง เด็กและเยาวชนวิถีใหม่ (Civic Education) และได้นำไปทดลองใช้กับครูผู้สอนในสถานศึกษานำร่อง จำนวน 56 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดความเชื่อมั่นศรัทธา และมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยดำเนินการเผยแพร่ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตยให้แก่ผู้เรียนใน 4 ช่วงวัย ประกอบด้วย ช่วงวัยอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยในการประชุมครั้งนี้ มีการรายงานผลการติดตามและประเมินผล และร่วมปรับปรุงหลักสูตรฯ ของคณะกรรมการและผู้แทนครูหลังจากการนำไปทดลองใช้กับผู้เรียนใน 4 ช่วงวัยดังกล่าว พร้อมทั้งมีกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและความเป็นพลเมืองจากผู้บริหารของ สพฐ. และ กกต. มีการบรรณาธิการกิจเอกสารแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลเมืองวิถีใหม่ และระดมความคิดเห็นแนวทางการนำเอกสารฯไปใช้
.
โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การสร้าง Literacy หรือการเสริมสร้างความฉลาดรู้ เป็นสิ่งสำคัญในการทำให้นักเรียนเป็นพลเมืองดีที่มีคุณภาพ ควรมุ่งเน้นที่ค่าการพัฒนาของนักเรียนมากกว่าการประเมินผลด้วยเกรด ควรยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้รับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างอย่างมีความสุข ส่วนการบูรณาการเนื้อหาการเรียนการสอนไม่ควรแยกวิชามากเกินไป ควรเน้นการบูรณาการเนื้อหาที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์และถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การนำแนวทางข้อสอบ PISA มาประยุกต์ใช้กับวิชาอื่น ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล รวมถึงการสร้างพลเมืองคุณภาพ ต้องมาจากครูที่มีความเข้าใจและใกล้ชิดกับนักเรียน เพราะครูคือผู้ที่จะส่งต่อความรู้และทักษะที่เหมาะสมให้แก่นักเรียน ฉะนั้นการพัฒนาครูให้สามารถถ่ายทอดแนวคิด Civic Education ได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
.
“ด้วยนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. รวมถึงว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มีความมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น พร้อมกับมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีด้วย การเสริมสร้างความภูมิใจในตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนมีความมั่นคงทางจิตใจ ดังนั้น Civic Education ควรเน้นให้เด็กได้รับการยอมรับและเคารพในตนเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ได้ เพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปในอนาคต” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- MOU 4 หน่วยงาน สู่การปฏิบัติจริง “เยาวชนกับความยั่งยืนโครงการสานต่อองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริฯ” - 5 ตุลาคม 2024
- สพฐ. ร่วมพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และพิธีวางพวงมาลาพระราชทาน แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุรถบัสไฟไหม้ - 4 ตุลาคม 2024
- ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 8/2567 - 3 ตุลาคม 2024