MOU 4 หน่วยงาน สู่การปฏิบัติจริง “เยาวชนกับความยั่งยืนโครงการสานต่อองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริฯ”


.
วันที่ 5 ตุลาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมโครงการสานต่อองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริสู่เยาวชน ประจำปี 2567 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึงการประสานความร่วมมือจัดทำโครงการเพื่อขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริสู่เยาวชน และกล่าวปิดพิธีฯ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมมอบเกียรติบัตร นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมมอบของที่ระลึก พร้อมด้วยคณะทำงานจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. รวมถึงผู้แทนทั้ง 3 หน่วยงาน บุคลากร คณะครู นักเรียนในโครงการฯ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมในพิธี ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
.
สำหรับโครงการสานต่อองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริสู่เยาวชน ประจำปี 2567 สืบเนื่องจาก สํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ
(สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการความร่วมมือเพื่อขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริสู่เยาวชน เมื่อ 26 กันยายน 2565 และได้จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริสู่เยาวชนขึ้นในปี 2566 และในปี 2567 ในเขตพื้นที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี คณะทำงานจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. ประกอบด้วย ดร.จรูญศรี แจบไธสง ดร.โชติมา หนูพริก ดร.สมเจตน์ พันธ์พรม อ.เอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง และ ดร.คมสันต์ หลาวเหล็ก ร่วมเป็นวิทยากรขับเคลื่อนขยายผลองค์ความรู้สู่เยาวชน ในเขตพื้นที่ สพม.ฉะเชิงเทรา และสพป.ฉะเชิงเทรา เขต 1 และ 2 และศูนย์การศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี 60 คน
.
ทั้งนี้ โรงเรียนได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน และได้พัฒนากิจกรรมโครงการเพื่อเป็นการต่อยอดการนำองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริสู่เยาวชน และขอรับการสนับสนุนงบประมาณของจังหวัดฉะเชิงเทรา 22 ผลงาน โดยมีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้รับเงินสนับสนุน 15 ผลงาน แบ่งออกเป็นระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ดังนี้

  • ระดับประถมศึกษา จํานวน 10 โครงการ
  1. โรงเรียนปากบึงสิงโต
    โครงการ : การพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียนด้วย 5 ฐานการเรียนรู้ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำสู่ 4 รู้
  2. โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎ์
    โครงการ : ค่ายบูรณาการ สานต่อที่พ่อทํา
  3. โรงเรียนสุเหร่าคลอง 18
    โครงการ : เด็กดี มีคุณธรรม เสริมภูมิคุ้มกัน สู่อาชีพที่ยั่งยืน
  4. โรงเรียนสกุลดีประชาสรรค์
    โครงการ : “ฐานการเรียนรู้ สู่คำพ่อสอน”
  5. โรงเรียนสุเหร่าคลอง 19
    โครงการ : ปั้นศิลป์ ดินสวย เพื่อการเรียนรู้มุ่งสู่อาชีพ
  6. โรงเรียนวัดดอนทอง (สุวัณณะศรี ตัณฑิกุล ราษฎร์ศึกษาลัย)
    โครงการ : ร้อยเรื่องความคิดเศรษฐกิจพอเพียง
  7. โรงเรียนแพ่งพิทยาภูมิ
    โครงการ : หอมแปลงร่างฝึกทักษะปลูกความรู้สร้างอาชีพ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
  8. โรงเรียนวัดหนองปาตอง (อัมพรรัฐประชาสรรค์)
    โครงการ : ถ้าพอเพียง เราก็เพียงพอ “ผักสวนครัว รั้วกินได้”
  9. โรงเรียนวัดหนองปาตอง (ประถมปลาย)
    โครงการ : มะนาวพอเพียง
  10. โรงเรียนบึงสิงโต (สหากหะยีเลาะสมัดประชาสรรค์)
    โครงการ : การบูรณาการการเรียนการสอนในแหล่งเรียนรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
    .
  • ระดับมัธยมศึกษา จํานวน 5 โครงการ
  1. โรงเรียนสุเหร่าคลอง 19
    โครงการ : ยุวเกษตรกรจิตอาสาต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง
  2. โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา”
    โครงการ : ถุงห่อผลมะม่วงจากเส้นใยรรรมชาติ แบบเกษตรยั่งยืน
  3. โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา”
    โครงการ : การควบคุมหนอนผีเสื้อกินใบมะนาวจากการศึกษาองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน
  4. โรงเรียนวัดเกตุสโมสร
    โครงการ : โครงงานเพาะเห็ดนางฟ้า
  5. โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ 2
    โครงการ : กิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ “ของดีเมืองแปดริ้ว”
    “การดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว สพฐ. ดำเนินการบูรณาการให้กลายเป็นห้องเรียน ถอดตัวชี้วัดจากมาตรฐานของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 นำไปเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ ด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้นักเรียนได้คิด ได้ปฏิบัติจนถึงขั้น Apply ปรับประยุกต์ใช้ความรู้ และทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้นั้น ซึ่งในการบูรณาการตัวชี้วัดในแหล่งเรียนรู้นั้นทำให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรชาติ ทั้งมาตรฐานตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ และต่อยอดเพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนนำสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันผ่านกิจกรรมและโครงการในสถานศึกษา รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว “