.
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จัดการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 9/2567 โดยมีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงผู้บริหารสำนักต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และร่วมประชุมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting)
.
สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย หลังจากการประชุมบอร์ด กพฐ. วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงาน สพฐ. จัดทำแผนการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย และรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอ กพฐ. ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งหลังการนำเสนอ ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเนื้อหาให้ชัดเจน และการสื่อสารสู่ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชน เพื่อให้หลักสูตรมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับการนำไปใช้ในปีการศึกษา 2568 นี้
.
โดยหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย มีหลักการ คือ มุ่งพัฒนาสมรรถนะตามพัฒนาการของผู้เรียน 5 ช่วงวัย ได้แก่ ระดับปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ผู้เรียนมีพัฒนาการสมวัย ระดับประถมศึกษาตอนต้น (อายุ 7-9 ปี) ผู้เรียนมีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี ระดับประถมศึกษาตอนปลาย (อายุ10-12 ปี) ผู้เรียนมีพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ดี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (อายุ13-15 ปี) ผู้เรียนค้นพบความสามารถ ความสนใจ และความถนัดของตนเอง และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (อายุ 16-18 ปี) พัฒนาผู้เรียนมุ่งสู่งานอาชีพ โดยมีโครงสร้างยืดหยุ่น ทั้งเวลา เนื้อหาการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ฯลฯ เน้นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มีการกำหนดเนื้อหาเท่าที่จำเป็น และใช้การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
.
ในส่วนของ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย (สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม บนพื้นฐานการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคนให้เต็มตามศักยภาพ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและวิถีชีวิตของเด็กตามบริบท ของชุมชน สังคม และวัฒนธรรรมไทย มีการใช้กิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่น มีการนำสื่อ เทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมมาพัฒนาเด็ก พร้อมให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วม
.
ส่วน (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-3) มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานแข็งแรงด้านสังคม มีจินตนาการ และมีความสุขในการเรียนรู้ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถพื้นฐานการเรียนรู้และทักษะชีวิต เน้นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก มีการจัดบริบทการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต (Life-Long Learning) และเน้นการประเมินเพื่อพัฒนาความก้าวหน้า (Formative Assessment) เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนตามเป้าหมาย ทำให้ผู้เรียนมีพื้นฐานการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และมีทักษะชีวิตที่ดี มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ และคิดอย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงมีคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยมีความรู้พื้นฐานที่จำเป็น ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ใช้สถานการณ์/ปัญหาเป็นบริบทการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้แบบองค์รวม และใช้กระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องมือประเมินพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
.
ทั้งนี้ หลังจากจัดทำ (ร่าง) หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย (สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี) และหลักสูตรประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-3) เสร็จสิ้นแล้ว จะมีการจัดทำคู่มือและสื่อประกอบการใช้หลักสูตร สื่อสารสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะเปิดรับสมัครสถานศึกษาที่มีความพร้อมและสมัครใจเป็นสถานศึกษาแกนนำการใช้หลักสูตร พร้อมทั้งพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้พร้อมนำหลักสูตรไปใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 ต่อไป
- ศธ. – สพฐ. ติวฟรี TGAT/TPAT “กล่องความรู้ สู่ความสุข” วันสุดท้าย เด็ก ม.6 เข้าร่วมกว่า 2.7 หมื่นคน กับวิชาเฉพาะแพทย์พร้อมลุยเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย - 6 ธันวาคม 2024
- เสมา 2 พร้อม สพฐ. เยี่ยมชมโรงเรียนเกาหลี ถอดบทเรียนใช้ดิจิทัล AI หวังนำเทคโนโลยีช่วยการเรียนการสอนในไทย - 6 ธันวาคม 2024
- เสมา 1 เยี่ยมกิจกรรมติวฟรี TGAT/TPAT “กล่องความรู้ สู่ความสุข” ให้กำลังใจนักเรียน ม.6 สอบได้คะแนนดีทุกคน - 5 ธันวาคม 2024