สพฐ. ประชุมจัดทำแผนพัฒนาฯ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างคุณภาพโรงเรียน กพด. ทั่วประเทศ

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดงานการประชุมปฏิบัติเชิงปฏิบัติการพัฒนาโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ภายใต้หัวข้อ “44 ปี พระเมตตาพัฒนาการศึกษา รักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รากฐานความมั่นคงของชาติ” โดยมี นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ชอบผล รองอธิบดีกรมกิจการพิเศษ สำนักพระราชวัง นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้ทรวงคุณวุฒิ นางประภัสสร โกศัลวัตน์ ผู้ทรวงคุณวุฒิ ผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนคณะครู คณะทำงาน โรงเรียนในโครงการฯ เข้าร่วม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมบ้านไทย บูทีค ถนนรามคำแหง 49 กรุงเทพมหานคร

.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า การศึกษา เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยของเรา ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีโรงเรียนทุกสังกัด มากกว่า 56,000 แห่ง เป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 29,512 แห่ง กระจายอยู่ในทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกภูมิภาค ซึ่งในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร และแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การเดินทางยากลำบาก อุปสรรค การทำงานมากมาย พระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ แผ่ไปถึง ทั้งนี้ สพฐ. โดย ศดร. หรือ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนตามพระราชดำริและโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมสนองพระราชดำริ เพื่อให้เด็กไทยทุกคน ได้ “เรียนดี มีความสุข” ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดแผนงานยกระดับคุณภาพเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การส่งเสริมโภชนาการ สุขภาพอนามัยของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน การเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ทางวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต ให้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ สืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

.

“ขอขอบคุณคณะทำงานโครงการทุกท่าน ที่ร่วมกับขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนในโรงเรียน กพด. อย่างเข้มแข็ง ตลอดปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา ขอชื่นชมผู้บริหารโรงเรียน คณะครู โรงเรียน กพด. ทุกคน ที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ ยึดถือคุณภาพผู้เรียนเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน จนปรากฏผลความสำเร็จ เกิดกิจกรรมการนำเสนอผลงานแนวปฏิบัติที่ดีและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในวันนี้ และขอให้ทุกท่าน ได้เก็บเกี่ยวแนวคิด เทคนิค วิธีการ เพื่อไปประยุกต์ใช้และต่อยอดการทำงาน สนองพระราชดำริ อย่างเต็มภาคภูมิต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนตามพระราชดำริและโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ (ศดร.) ได้ดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) จำนวน 200 โรงเรียน 32 ห้องเรียนสาขา แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ จำนวน 62 โรงเรียน 32 ห้องเรียนสาขา ภาคกลาง จำนวน 42 โรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 50 โรงเรียน ภาคใต้ จำนวน 22 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 24 โรงเรียน เป็นกลุ่มโรงเรียนที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560 – 2569) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มโรงเรียน พร้อมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ และร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 322 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและผู้เกี่ยวข้อง โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรผู้ทรงความรู้และประสบการณ์มาให้ความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนในโครงการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในครั้งนี้ด้วย