วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย รองโฆษก ศธ. เข้าร่วมการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 39/2567 โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารหน่วยงานใน ศธ. และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting
.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้พูดคุยเรื่องการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA จากที่เราได้มีการดำเนินงานขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลาพอสมควร จึงฝากให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งการอบรมครู การทดลองทำข้อสอบระบบผ่านระบบออนไลน์ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการสอบ PISA มีการติดตามผลการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการยกระดับการศึกษา การประเมินผลจากการปรับปรุงข้อสอบ และการวัดผลการเรียนรู้ เพื่อดูว่ามีการพัฒนาขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทุกมิติ ซึ่งจากผลการดำเนินงานการอบรมครูเพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามมาตรฐานสากล ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำมาสู่แนวทางการปฏิบัติ ในห้องเรียนจริง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อนำแนวทางการติดตามผลการดำเนินงานไปสู่ภาคเรียนที่ 1 ในปีการศึกษา 2568 และในส่วนของผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีการนำการพัฒนาทักษะการออกข้อสอบของครู มาเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนางาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
.
ในด้านการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก็ได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ จึงได้ฝากกระบวนการ และกรอบแนวทาง 3 ด้าน ในการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ” เด็กที่ออกนอกระบบ ทำอย่างไรให้เด็กไทยได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง “ป้องกัน” เด็กหลุดออกนอกระบบ พร้อมหาสาเหตุที่เด็กออกนอกระบบเพื่อจัดทำแนวทางในการ “แก้ไข” เพื่อดำเนินการ “ส่งต่อ” เด็กตามความสมัครใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และจะเร่งดำเนินการให้เด็กและเยาวชนที่ออกนอกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบให้เหลือ 0 คนให้ได้โดยเร็ว โดยล่าสุด สพฐ.ได้ดำเนินโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) “เรียนดี มีความสุข” ได้ขับเคลื่อนนโยบายไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยดำเนินงานผ่านศูนย์พัฒนาระบบข้อมูลทางการศึกษา เพื่อแจ้งฐานข้อมูลเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ไปยัง สพท. ทุกเขต เพื่อเร่งติดตามพาเด็กและเยาวชนกลับมาเรียน รวมถึงการติดตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อจะช่วยให้เด็กไทยได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ตามความต้องการจำเป็น
.
“พร้อมกันนี้ได้ฝาก สพฐ. สป. และ สกร. ร่วมกันบูรณาการการดำเนินงาน รวมถึง สช. และ สอศ. เพื่อให้ครบทุกมิติ Zero Dropout ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือในส่วนของการจัดหางาน หรือส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพ ให้สามารถทำงานพึ่งพาตนเองได้ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กมีทางเลือกที่หลากหลายในการเติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
ข้อมูลโดย : ทีมประชาสัมพันธ์ สป.ศธ.
- สพฐ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โครงการโรงเรียนสุจริต” ระดับประเทศ - 7 ธันวาคม 2024
- สพฐ. ร่วมประชุม กมธ.การศึกษา วุฒิสภา หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษาไทย - 6 ธันวาคม 2024
- รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดการสัมมนาวิชาการสัมพันธ์กลุ่มโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ “สืบสานปณิธานสมเด็จย่า ใต้ฟ้าเมืองชากังราว” ครั้งที่ 20 ณ จังหวัดกำแพงเพชร - 6 ธันวาคม 2024