สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ประจำปี 2567 “44 ปี พระเมตตา พัฒนาการศึกษา รักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รากฐานความมั่นคงของชาติ” ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร


.
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ประจำปี 2567 “44 ปี พระเมตตา พัฒนาการศึกษา รักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รากฐานความมั่นคงของชาติ” ณ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ในการนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ โดยมี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งที่ปรึกษางานโครงการตามพระราชดำริฯ หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการ เฝ้าฯ รับเสด็จ โดยพร้อมเพรียงกัน
.
สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 มีกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับหน่วยงานสถานศึกษาภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ โดยมีบุคลากรทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ เข้าร่วมการประชุม จำนวน 1,500 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ แก่สาธารณชน รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อพัฒนาแนวคิดและร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมาย
.
ทั้งนี้ การประชุมวิชาการประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การนำเสนอผลงานวิชาการแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาเด็กและเยาวชน นิทรรศการแสดงผลงานวิชาการ การประกวดแข่งขันทักษะวิชาการของนักเรียน ประกอบด้วย การวาดภาพระบายสี การคัดลายมือ การเขียนเรียงความภาษาไทย การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ และการนำเสนอผลงานของนักเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญา นอกจากนี้ยังมีการประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้านของครู 9 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเกษตรกรรม 2) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม 3) ด้านการแพทย์แผนไทย 4) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน 5) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6) ด้านศิลปกรรม 7) ด้านภาษาและวรรณกรรม 8) ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี และ 9) ด้านโภชนาการ
.
ข้อมูล : https://www.psproject.org/?page_id=41481