สพฐ. ร่วมประชุมความร่วมมือ 3 ภาคส่วน รวมพลังสานอนาคตการศึกษาไทยที่ยั่งยืน ประจำปี 2567


.
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมประชุมความร่วมมือ 3 ภาคส่วน รวมพลังสานอนาคตการศึกษาไทยที่ยั่งยืน ประจำปี 2567 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและผนึกกำลังความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แสดงวิสัยทัศน์ และความร่วมมือของภาครัฐในการขับเคลื่อนการศึกษา พร้อมผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ รวมถึงผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
.
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยสู่ความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อให้นักเรียนและครู “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งในวันนี้เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยมีการตั้งคณะทำงานเป็น 5 คณะ มีการกำหนดตัวชี้วัด วางเป้าหมายที่ชัดเจนมีประสิทธิภาพ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาคเอกชนต่างๆ ได้อาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือด้านการศึกษามากขึ้น เช่น การพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน การพัฒนาครู โดยทำงานร่วมกับ สพฐ. เป็นอย่างดี และล่าสุดมีภาคเอกชนเข้ามาเพิ่มเติมเป็น 55 องค์กร จากเดิม 40 องค์กร ถือได้ว่าความตั้งใจดีของเราประสบความสำเร็จไปอีกขั้น โอกาสนี้ก็ขอเชิญชวนหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาโรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเท่าเทียมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยในภาพรวมต่อไป
.
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ได้ร่วมกับ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ดำเนินโครงการคอนเน็กซ์อีดี เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร และโรงเรียนให้มีคุณภาพและสมรรถนะตามมาตรฐานโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา และการบริหารจัดการของโรงเรียนในโครงการ รวมถึงสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้พัฒนาและดำเนินการส่งเสริม กำกับดูแล การตรวจสอบการประเมินผลและการประกันคุณภาพให้โรงเรียนในโครงการมีมาตรฐาน และสร้างผู้เรียนที่เป็นคนดี คนเก่ง มีขีดความสามารถที่แข่งขันได้ในสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยการผนึกกำลังความร่วมมือ 3 ภาคส่วน โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงานใน 5 ด้าน ประกอบด้วย “TRANSPARENCY” การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะ “MARKET MECHANISMS” กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม “HIGH QUALITY PRINCIPALS & TEACHERS” การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน “CHILD CENTRIC & CURRICULUM” เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ และ “DIGITAL INFRASTRUCTURES” การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา