สพฐ. ร่วมประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 41/2567

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 41/2567 โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารหน่วยงานใน ศธ. และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting
.
โดยที่ประชุมมีการสรุปผลความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ในส่วนของ สพฐ. ได้รายงานการประชุมแอดมิน และแกนนำ การขยายผลการสร้างข้อสอบวัดความฉลาดรู้ในระดับเขตพื้นที่ 718 User รวมถึงการนำเสนอแพลตฟอร์มอบรมออนไลน์การขยายผลการสร้างข้อสอบวัดความฉลาดรู้ฯ จำนวน 16 รุ่น และสำรอง ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 – เดือนมีนาคม 2568 และตัวอย่างการดำเนินงานของแกนนำระดับเขตพื้นที่ เช่น ครูแกนนำ สพม.สมุทรปราการ ครูเครือข่ายโรงเรียน สมุทรปราการ เป็นต้น
.
ด้านโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหา “เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น” สพฐ. ได้รายงานกิจกรรมการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น การใช้นวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ใน สพม.ราชบุรี, ราชบุรีโมเดล แผนการเรียนรายบุคคล วิชาชีพคนเลี้ยงวัว, เมืองสองแคว ร่วมพัฒนาโรงเรียนต้นแบบประจำอำเภอ จัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ, สพป.นราธิวาส เขต 2 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการอบรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ แก่โรงเรียนในสังกัด 10 แห่ง และ สพป.กรุงเทพมหานคร เขต 1 บูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เป็นหนึ่ง พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง
.
ขณะที่การจัดเตรียมของขวัญปีใหม่ 2568 สพฐ. ได้นำเสนอ “กล่องความรู้ สู่ความสุข” จัดสอนเสริม เพิ่มเทคนิค สร้างความมั่นในใจการสอบ TGAT/TPAT ตามนโยบาย เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2567 โดยไม่ว่าจะเรียนรู้อยู่ที่บ้านหรือในโรงเรียนให้ถือว่าเป็นเวลาเรียนปกติ ตามแนวทางประกาศ สพฐ. เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีแนวทาง ดังนี้ 1.ให้สถานศึกษาอนุญาต ให้นักเรียนเรียนเสริมความรู้ทั้งในหรือนอกห้องเรียน (ที่บ้านหรือโรงเรียน) 2.ให้สถานศึกษาที่มีความพร้อม จัดสถานที่ในโรงเรียนเพื่อใช้ในการเรียนเสริมความรู้ให้แก่นักเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ 3.ให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีมาตรการ กำกับ ติดตาม ตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ และมีมาตรการป้องกัน ดูแลด้านความปลอดภัยให้แก่นักเรียน เป็นต้น