วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โครงการนำร่อง หลักสูตรปริญญาร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้านสะเต็มศึกษา หรือ The Thai-US Joint-degree Sandbox for STEM Teacher Education Program โดยมี โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นางสาวซามิร่า คานาปิยาโนว่า ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนยูเรเซียแปซิฟิค สำรวจและผลิต จำกัด นายมนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษา ด้านพัฒนาวิชาชีพผู้ช่วยศาสตราจารย์ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา นายพูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. นายจอห์น อาร์โนล ซาซี่ เซียน่า รองผู้อำนวยการ (ฝ่ายโปรแกรมและพัฒนา) สำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมงานจากศูนย์ SEAMEO STEM-ED คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารจากหน่วยงานความร่วมมือทั้งในประเทศและในภูมิภาค และ ทีมงานโครงการ ณ ห้องประชุมบอลรูม 2+3 ชั้น 9 โรงแรมโฟร์พอยต์ บาย เชอราตัน กรุงเทพ
.
นายพัฒนะ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า โครงการนำร่องหลักสูตรปริญญาร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้านสะเต็มศึกษา หรือ The Thai-US Joint-degree Sandbox for STEM Teacher Education Program เป็นการแสดงเจตนารมย์ของรัฐบาลไทย ที่ทุ่มเทต่อการพัฒนาสะเต็มศึกษาของประเทศและส่งเสริมสัมพันธภาพอันดีด้านความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา โครงการนำร่องนี้ เป็นการสานต่อโครงการเพื่อสังคมของ บริษัทเชฟรอน ด้านการพัฒนาสะเต็มศึกษาในประเทศไทยและภูมิภาคมากว่าหนึ่งทศวรรษ และนำมาสู่การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในสหรัฐอเมริกา โดยมี หน่วยงานผู้ริเริ่มสำคัญอันได้แก่ สำนักงานงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ศูนย์ SEAMEO STEM-ED สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ประสงค์จะร่วมมือกับ Immersive Education Academy เครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ the University of Illinois at Urbana Champaign และ Arizona State University โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและพลิกโฉมครุศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สามารถเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้มีสมรรถนะแห่งอนาคตด้านสะเต็ม เพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21
.
นายพัฒนะ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการศึกษาในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเผชิญความท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (ICER) ได้ระบุถึงข้อจำกัดของระบบการผลิตครูของประเทศไทยในรายงานที่เผยแพร่เดือนพฤษภาคม 2562 ว่า ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการสอนภาคทฤษฎีมากกว่าการลงมือปฏิบัติ ในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Office of the Basic Education Commission : OBEC) ดูแลและรับผิดชอบคุณครูกว่า 380,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นแกนหลักในพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน พันธกิจหนึ่งซึ่งทาง สพฐ. นั้นให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือการมุ่งเน้นเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะของครู ทั้งด้านวิชาการที่เข้มแข็งควบคู่กับวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัย เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงอย่างการจัดการเรียนแบบบูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์และทักษะการแก้ปัญหาที่ใกล้ตัวและสำคัญกับชุมชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ ให้ครูได้ใช้เป็นเครื่องมือในการเปิดโลกการเรียนรู้ในยุคที่ข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ด้วยแค่ปลายนิ้ว ดังนั้น ความร่วมมือภายใต้โครงการนำร่องนี้ จะนำมาสู่มาตรฐานของการผลิตครูที่สูงขึ้นอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และนำมาสู่การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนที่ดีขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนากำลังคนที่ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
.
และในโอกาสนี้ขอขอบคุณบริษัท เชฟรอน ที่ได้เริ่มโครงการด้านการพัฒนาสะเต็มศึกษามายาวนาน จนมาสู่ Southeast Asian Teacher Education Program หรือ SEA-TEP และสามารถต่อยอดมาสู่โครงการนำร่อง หลักสูตรปริญญาร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังจากโครงการเพื่อสังคมที่บริษัท เชฟรอนได้ทุ่มเทตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษในการพัฒนาศักยภาพด้านสะเต็มศึกษา ที่ส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการท่องจำ “แต่เน้นการฝึกปฏิบัติจริง” เช่น การนำความรู้ไปแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือการนำความรู้ไปช่วยในการประกอบอาชีพแห่งอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศควรส่งเสริม การได้เห็นพลังจากหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่มาร่วมผนึกกำลังกันในวันนี้ ผมมั่นใจว่าการผลิตและพัฒนาครูจะมีอนาคตที่สดใส จะมีบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง และสอนให้เด็กสนุกและใฝ่เรียนรู้ และรักที่จะเติบโตในสาขาอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมาเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
ที่สำคัญ ขอขอบคุณหน่วยงานภาคีทั้งหลายทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติ นักวิจัยและผู้สนับสนุนที่มาผนึกกำลังและบูรณาการทรัพยากรร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยไม่แบ่งหน่วยงานหรือสังกัดว่ามา จากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชน ที่มาร่วมกันจับมือและก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน สำหรับการขับเคลื่อนให้การศึกษาของประเทศพัฒนายิ่งขึ้น เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศเจริญก้าวหน้า นายพัฒนะ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าว
ขอขอบคุณภาพข่าว : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
- ศธ. – สพฐ. ติวฟรี TGAT/TPAT “กล่องความรู้ สู่ความสุข” วันสุดท้าย เด็ก ม.6 เข้าร่วมกว่า 2.7 หมื่นคน กับวิชาเฉพาะแพทย์พร้อมลุยเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย - 6 ธันวาคม 2024
- เสมา 2 พร้อม สพฐ. เยี่ยมชมโรงเรียนเกาหลี ถอดบทเรียนใช้ดิจิทัล AI หวังนำเทคโนโลยีช่วยการเรียนการสอนในไทย - 6 ธันวาคม 2024
- เสมา 1 เยี่ยมกิจกรรมติวฟรี TGAT/TPAT “กล่องความรู้ สู่ความสุข” ให้กำลังใจนักเรียน ม.6 สอบได้คะแนนดีทุกคน - 5 ธันวาคม 2024