พระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักดีว่าการศึกษาของเยาวชนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุก ๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด”

พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนี้

1.โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นโรงเรียนที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้การอุปถัมป์ในด้านต่าง ๆ เช่น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ ครูและ นักเรียนของโรงเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ มีทั้ง โรงเรียนรัฐบาลและ โรงเรียนเอกชน ดังนี้

  • โรงเรียนจิตรลดา
  • โรงเรียนราชวินิต
  • โรงเรียนวังไกลกังวล
  • โรงเรียนราชประชาสมาสัย
  • โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท
  • โรงเรียนร่มเกล้า
  • โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
  • โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน

2.ทุนการศึกษาพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญา หากแต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์สำหรับการศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาหลายขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ดังนี้

  • ทุนเล่าเรียนหลวง
  • ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
  • ทุนมูลนิธิภูมิพล
  • ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
  • ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
  • ทุนนวฤกษ์
  • ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี

3.โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า

“หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหาอ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาเพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี”

ปัจจุบันโครงการฯ ได้จัดทำหนังสือสารานุกรมไทยที่บรรจุความรู้ใน ๗ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ขณะนี้มีออกมาแล้ว ๒๘ เล่ม โดยแต่ละเล่มได้จัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ตามพื้นฐานของตน

4.พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ในทุก ๆ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา แม้พระราชกรณียกิจนี้จะเป็นภาระแก่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์มาก แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้คงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในปัจจุบันมี มหาวิทยาลัยเอกชน เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชทานแทนพระองค์ (เฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน)

ที่มาข้อมูล : www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com, https://www.royaloffice.th