16 ปี สพฐ. เดินหน้าพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน


ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะครบรอบการทำงานปีที่ 16 ด้วยความตระหนักสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยภาพรวมนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากรัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ประเทศไทย ปี 2558-2563 เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี นั่นคือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อเป็นกรอบแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยมีจุดเน้นยุทธศาสตร์ของประเทศ 6 ยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงสู่ยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ 6 ด้าน ตามทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ นำไปสู่การกำหนดนโยบายและเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างครบถ้วนทุกมิติ ซึ่งการเข้าถึงและเข้าใจยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจะเป็นเหมือนระบบนำทาง GPS ที่ทำให้ผู้ใช้เดินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เป็นการตอบโจทย์วิสัยทัศน์ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างคนดีและคนเก่งให้แก่สังคมประเทศไทย


โดยเฉพาะโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ความท้าทายของประชาคมโลกและยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ของทุกประเทศ คือ “คุณภาพการศึกษา” ที่กำหนดให้เป็นเป้าหมายที่ 4 ในเป้าหมายโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น ภารกิจที่ท้าทายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การสร้างเยาวชนให้เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญ นำพาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งระบบการศึกษาต้องการหล่อหลอมให้เยาวชนของชาติเป็นบุคคลผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และผู้มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งเพื่อสันติสุข ด้วยความภาคภูมิและยั่งยืน ส่วนหนึ่งของโครงการที่ สพฐ. ขับเคลื่อนในปัจจุบัน ได้แก่

โครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในท้องที่ชนบทห่างไกล ยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน สร้างความเสมอภาคในการศึกษา รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ผ่านโทรทัศน์ทางช่องทีวีได้ตลอดเวลา ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกช่วงเวลาและทุกสถานที่ โดยปัจจุบันได้ถ่ายทอดไปยังโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล จำนวนกว่า 15,369 แห่ง และศูนย์ดูแลเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ และได้พัฒนาระบบการออกอากาศ ปรับผังรายการให้ครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอันสอดคล้องกับสภาวการณ์การศึกษาของโลกปัจจุบัน เพิ่มช่องทางการเข้าถึง ทั้งทางสัญญาณดาวเทียม เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น ซึ่งสามารถยกระดับการเข้าถึงการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้นและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

โครงการโรงเรียนประชารัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้จัดทำโครงการที่เป็นลักษณะโรงเรียนประจำโดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีที่พัก มีอาหารฟรี เพื่อเปิดโอกาสให้ครอบครัวผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ที่อยู่ในทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ให้ได้รับสวัสดิการของรัฐ และโอกาสทางการศึกษามากยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ นาทวี เทพา และอำเภอสะบ้าย้อย โดยกำหนดให้ 1 อำเภอ มีโรงเรียนประจำ ระดับประถมศึกษา 1 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 1 โรงเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้น 37 อำเภอ 73 โรงเรียน ซึ่งจากการเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าโครงการในปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นที่สนใจของผู้ปกครองและประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้นำบุตรหลานมาสมัครเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 5,277 คน


โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบาย “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” เพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้เป็นโรงเรียนคุณภาพที่มีความพร้อม ได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเท่าเทียมและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนที่ต้องมีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พร้อมทั้งพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม งานอาชีพ และสุขภาพอนามัย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้เรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 8,224 โรงเรียน ซึ่งจะส่งผลให้อนาคตมีโรงเรียนของชุมชนที่มีความพร้อมให้บริการโรงเรียนเครือข่ายและชุมชนอย่างเข้มแข็ง


โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย Thailand 4.0 เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา ที่ให้ความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการบริหารงานวิชาการ การบริหารงานงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป โดยสร้างความรับผิดชอบต่อผู้เรียนด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สนับสนุนทรัพยากรที่เหมาะสมและจำเป็น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการ รุ่นที่ 1 ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ จำนวน 50 โรงเรียน จาก 34 จังหวัด มีผู้สนับสนุนที่เป็นภาคเอกชนรวมถึงหน่วยงานต่างๆ จำนวน 12 หน่วยงาน และได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม จำนวน 84 โรงเรียน มีผู้สนับสนุน 27 หน่วยงาน รวมทั้ง 2 รุ่น มีโรงเรียนในโครงการ 134 โรงเรียน จาก 54 จังหวัดทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของโครงการได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการให้มีสถานศึกษาโรงเรียนร่วมพัฒนาครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ภายในปี 2562 นี้


โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ การกำหนดพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Sandbox) เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกภาคส่วนร่วมในการจัดการศึกษา คิดค้นและพัฒนาด้านนวัตกรรมการศึกษา และดำเนินการให้นำนวัตกรรมนั้นไปใช้ในสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันได้ประกาศเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่องใน 6 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดระยอง ศรีสะเกษ สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความพิเศษของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือการเพิ่มอิสระ ลดข้อจำกัดโดยให้อิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เพื่อคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของครูและบุคลากรในโรงเรียน ให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ อีกทั้งยังสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องหลักสูตรการจัดการเรียนรู้และการประเมิน และยังเชื่อมโยงทุกภาคส่วนโดยร่วมมือกันจัดการศึกษาระดมทรัพยากรจากภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจในพื้นที่

โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาชายแดนใต้ / โครงการห้องเรียนกีฬา / ลานกีฬาเพื่อประชาชน โครงการ “สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นหนึ่งในนโยบายการส่งเสริมกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการ รวมทั้งสิ้น 12 โรงเรียน ยอดนักเรียนรวม 1,436 คน ต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ขยายผลการดำเนินงานออกไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน จึงได้เกิดเป็น “โครงการห้องเรียนกีฬา” ขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนไทยที่มีความเป็นเลิศด้านกีฬา พัฒนาทักษะโดยใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการเป็นฐาน เน้นการพัฒนาร่างกายให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนักกีฬาต่างประเทศได้ ซึ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการห้องเรียนกีฬา ในทุกภูมิภาค จำนวน 9 โรงเรียน มีนักเรียนจำนวนรวม 1,155 คน นอกจากนั้น เพื่อให้สถาบันทางการศึกษาที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมประชาชนคนไทย ให้หันมาสนใจในการออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามวัย สพฐ. จึงได้จัดโครงการลานกีฬาเพื่อประชาชน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ได้ออกกำลังกาย โดยการเล่นกีฬาและรักษาดูแลสุขภาพตนเอง ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลจากยาเสพติด และส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นสถานที่สำหรับให้ประชาชนในชุมชนออกกำลังกายและเล่นด้วย
โครงการศูนย์พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หรือ Boot Camp มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูผู้สอนภาษาอังกฤษชาวไทย ส่งผลให้ครูสามารถสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทยได้ดีขึ้น โดยพัฒนาความสามารถภาษาอังกฤษและเทคนิคการสอนของครูสอนภาษาอังกฤษ ด้วยการจัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้ม ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการอบรมทั้งทักษะภาษาและเทคนิคการสอน รวมทั้งจัดกิจกรรมและบริบทในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดระยะเวลาอบรม ใช้วิทยากรชาวต่างประเทศที่เป็นเจ้าของภาษา ที่มีความสามารถภาษาอังกฤษสูงและมีความสามารถในการใช้เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษ หรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่เป็นแม่แบบได้ รวมทั้งมีการประเมินทักษะภาษาอังกฤษ 4 ทักษะ ได้แก่ ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2559 จากนั้นขยายผลโครงการด้วยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ในระดับภูมิภาค จำนวน 15 ศูนย์ทั่วประเทศ มีครูภาษาอังกฤษเข้าร่วมโครงการกว่า 17,000 คน โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างมาก ทั้งจากครูที่เข้ารับการอบรม วิทยากรผู้อบรม ตลอดจนนักเรียนที่จะได้รับผลจากความรู้และเทคนิควิธีการสอนรูปแบบใหม่จากครูที่ผ่านการอบรมตามโครงการ

โครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการพัฒนาครูในประเทศไทย เพราะมุ่งหวังให้ครูสามารถพัฒนาตนเองได้ตรงตามศักยภาพ สามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการประกอบอาชีพครู และยังเป็นการพัฒนาครูเพื่อเชื่อมโยงกับวิทยฐานะ ถึงแม้ในช่วงแรกจะมีเสียงสะท้อนจากสังคมในเรื่องระบบบริหารจัดการ และแนวปฏิบัติในการอบรม แต่ สพฐ. ได้นำปัญหาที่พบมาแก้ไขและปรับปรุงการดำเนินงาน จนถึงปัจจุบันมีหลักสูตรอบรมครูจำนวน 1,207 หลักสูตร มีข้าราชการครูที่ได้รับการพัฒนา 360,175 ที่นั่ง และมีครูที่ได้รับการพัฒนาแล้ว 274,264 คน โดยผลประเมินความพึงพอใจหลังเข้ารับการอบรมสูงถึง 4.21 หรือคิดเป็น 84.11%
โรงเรียนขนาดเล็ก ในระยะหลายปีที่ผ่านมา สพฐ. ได้ตระหนักถึงความยากลำบากในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก (นักเรียนไม่เกิน 120 คน) จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาในทุกวิถีทาง โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนขนาดเล็กจัดบริการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยคณะภาคี 4 ฝ่าย ประกอบด้วย นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน สพฐ. จึงได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการศึกษาหลากหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และห้องเรียนเคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งจากผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (National Test: NT) ในปีที่ผ่านมา ใน 3 ด้าน คือ ความสามารถด้านภาษา ความสามารถด้านการคิดคำนวณ ความสามารถด้านเหตุผล พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีผลการทดสอบทั้ง 3 ด้าน ไม่แตกต่างจากโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กให้สูงขึ้น


สพฐ. เป็นองค์กรที่นำการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์พลังในการพัฒนาประเทศ โดยตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา สพฐ. ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งมีการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั่วโลก โดยมุ่งหวังนำพาองค์กรสู่ความเป็นเลิศและได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากทุกภาคส่วน กล่าวได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีทุนทางปัญญาที่มีคุณค่าและมีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน