เลขาธิการ กพฐ. ลงนาม MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมมอบนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาสอดคล้องกับพื้นที่


วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) พร้อมมอบนโยบายและทิศทางในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา ในการประชุม “พลังร่วม” ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สร้างสรรค์สามัคคี สดุดีองค์ราชัน โดยมี ผู้ชำนาญการการบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตตรวจราชการที่ 13 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ในจังหวัดนครราชสีมา และคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นสักขีพยานในการลงนาม ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

https://youtu.be/G5XInBGK8EA


การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง สพฐ. โดยนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มร.นม. เป็นผู้ลงนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาครู หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทและความจำเป็นของสถานศึกษาในพื้นที่โดยใช้ดิจิทัล ด้วยการพัฒนารูปแบบระบบนิเวศทางการศึกษาแบบดิจิทัล เพื่อจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง กลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7 และโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 จำนวน 200 โรงเรียน โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. โดยยึดพื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษา และสอดคล้องกับการจัดการศึกษาที่มุ่งตอบโจทย์ประเทศใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 มิติที่ 2 แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มิติที่ 3 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมิติที่ 4 การศึกษาสู่สากล ทั้งยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยในพื้นที่กับ สพฐ. โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมในด้านการพัฒนาครู ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติต่อไปในอนาคต เป็นการบูรณาการด้านการศึกษาที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมารวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง และอาจขยายไปสู่ทั่วประเทศโดยพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ของตนเองได้

ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวถึงการติดตามโครงการอาหารกลางวันนักเรียน หลังจากกำชับให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามโครงการอาหารกลางวันอย่างใกล้ชิด ให้มีการควบคุมตรวจสอบให้โรงเรียนในสังกัดดำเนินโครงการอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นกับโรงเรียนในสังกัด ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่และผู้อำนวยการโรงเรียนตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยขณะนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่ได้รายงานผลเข้ามาครบทุกเขตแล้ว พบว่าสามารถดำเนินงานได้เรียบร้อย แต่อาจมีปัญหาบ้างในบางพื้นที่ เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมหาดไทย จึงทำให้อาจเกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูลได้ รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งบนภูเขาและพื้นที่เกาะแก่ง ขณะนี้จึงได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

อัจฉรา ข่าว