เลขาธิการ กพฐ. เปิดการแข่งขันกิจกรรมภาษาไทยเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ณ จ.สมุทรปราการ

 

https://youtu.be/R-nsEKQN084

วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกิจกรรมภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ตามโครงการรักษ์ภาษาไทย ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 โดยมีนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก ณ โรงเรียนวัดบางโฉลงใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายและมาตรการว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย และกำหนดให้ปี 2562-2564 เป็นปีแห่งการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน สู่การเรียนรู้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้บุคลากรทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ผู้ปกครอง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนของชาติในด้านการพัฒนาและส่งเสริมการอ่าน ด้วยภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งจะต้องสื่อสารให้เด็กและเยาวชนได้อ่านคล่อง เขียนคล่อง อ่านรู้เรื่อง และมีนิสัยรักการอ่าน อีกทั้งยังเป็นทักษะที่จะนำไปใช้ในการติดต่อสื่อสาร และเป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น จึงได้จัดกิจกรรมการแข่งขันในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบาย ของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจอีกด้วย

โดยเฉพาะในระดับโรงเรียนและระดับกลุ่มโรงเรียน จำเป็นที่จะต้องจัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามแนวทางโครงการปฏิรูปการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะส่งผลให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีปัญญา เรียนรู้อย่างมีความสุข และมีความเป็นไทย ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะพัฒนาผู้เรียนต่อไปเพื่อก้าวสู่การศึกษาไทย 4.0

“สำหรับนักเรียนที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันนั้นก็ขอให้พัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ และเกิดความภาคภูมิใจว่าได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของโรงเรียนและกลุ่มโรงเรียน เข้าแข่งขันในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และพร้อมที่จะเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับภาคกลางและภาคตะวันออก(ระดับชาติ) เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การอ่านรู้เรื่อง การรู้เท่าทัน มีนิสัยรักการอ่าน ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ใช้แหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนและห้องสมุดให้เกิดประโยชน์ในการแสวงหาความรู้และศึกษาค้นคว้าต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

อัจฉรา ข่าว