วันที่ 29 ตุลาคม 2561 กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคเหนือ) ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อชี้แจงแนวนโยบาย สร้างการรับรู้ ระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนแผนการบูรณาการด้านการศึกษา ปีงบประมาณ 2562-2563 ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมถึงศึกษาธิการภาค 15-18 ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อํานวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การศึกษา ผู้อํานวยการกลุ่มตรวจราชการและติดตามประเมินผล เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแผนบูรณาการด้านการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคเหนือ) จำนวน 350 คน เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมกัน ณ โรงแรมทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย
สำหรับการประชุมขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (6 ภาค) สืบเนื่องจาก พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. ได้มีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภาคตามนโยบายรัฐบาลที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและ Flagship Project ที่จะกําหนดขึ้นโดยการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคทั้ง 6 ภาค ให้มีความชัดเจน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นระบบ ดังนั้นจึงมีนโยบายให้ดําเนินการขับเคลื่อน
แผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทั้ง 6 ภาคของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลแก่ประชาชนทั้งด้านการสร้างโอกาสทางศึกษา การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจน
การเพิ่มทักษะขีดความสามารถในการแข่งขันให้กระจายทั่วทุกภูมิภาค พร้อมทั้งมีจุดเน้นเชิงนโยบายการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ได้แก่ การส่งเสริมหลักสูตรต่อเนื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา และการดําเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อนําไปสู่การดําเนินงานในระดับพื้นที่อย่างมีคุณภาพต่อไป
ในส่วนของการประชุมขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคเหนือ) ในครั้งนี้ ได้มีการชี้แจงแนวนโยบาย สร้างการรับรู้ ระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนแผนการบูรณาการด้านการศึกษา ปีงบประมาณ 2562-2563 ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ในมิติ 3 ด้าน คือ 1) การขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือให้เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง” 2) การส่งเสริมเวทีและประชาคมเพื่อการจัดทำรูปแบบและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา-อุดมศึกษา โดยกำหนดปัจจัยความสำเร็จ 7 ด้าน คือ การบูรณาการทรัพยากร ยกเลิกข้อจำกัดหลักเกณฑ์และวิธีการ ความมีอิสระในการปรับหลักสูตรและแผนการเรียน ความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากร Credit Bank/Credit Transfer/เทียบโอนประสบการณ์ เครื่องมือวัดความถนัด และการติดตามระบบการส่งต่อ และ 3) การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โดยวางแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายอัตลักษณ์ของคนเชียงใหม่ มีสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ มีความปลอดภัย สุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยวและการบริการ เพื่อให้ “เชียงใหม่เป็นนครแห่งคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. ได้กล่าวภายหลังรับฟังผลสรุปจากการประชุมทั้ง 3 กลุ่มว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมที่สมบูรณ์และพร้อมเพรียงกัน เป็นการทำงานภาพรวมเชิงบูรณาการครั้งสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการที่ผู้บริหารระดับสูงสุดของทุกองค์กรหลัก และหน่วยงานในสังกัดได้มารับฟังและให้ข้อคิดเห็นในการประชุมครั้งนี้ โดยการวางแผนและขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการทำงาน อาทิ พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า”งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ดังนั้น จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 12 ธันวาคม 2512) และพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง การสร้างลักษณะพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากนี้ รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้วางแผนการทำงานของรัฐบาลโดยมีหน่วยงานและคณะกรรมการระดับประเทศร่วมดำเนินการให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เช่น สภาพัฒน์หรือคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่เข้ามาช่วยวางแผนการศึกษาให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ในระยะยาว เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ประเทศ คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือเป็นคติพจน์ประจำชาติว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นช่วงต้นปีงบประมาณ ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะเป็นการนำแผนงานงบประมาณของปีงบประมาณ 2561 มาทบทวนว่าโครงการใดที่มีความเหมาะสมก็ให้คงเอาไว้หรือพัฒนางานให้เกิดคุณภาพมากยิ่งขึ้น และมีความเหมาะสมกับวงรอบการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2563 อีกด้วย” รมช.ศธ. กล่าว
ขณะที่ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า “การบูรณาการควรเริ่มต้นจากการนำโจทย์ของประเทศเป็นกรอบบูรณาการทางความคิด ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นโจทย์ในรูปแบบ Top Down ในภาพรวมจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ทุกส่วนใช้เป็นกรอบพัฒนาตามเป้าหมายพัฒนาประเทศระยะยาว โดยแบ่งภาคออกเป็น 6 ภาค เพื่อรวบรวมบุคลากรและปัญหาของแต่ละพื้นที่ และช่วยกันคิดและวางเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อจะใช้เป็นจิ๊กซอว์ประกอบรวมกันในแต่ละภาค จนกลายเป็นภาพของประเทศ และในระดับจังหวัดก็ได้มีการวิเคราะห์ศักยภาพและข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งมีจุดเน้นตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด/ภาค จึงต้องนำยุทธศาสตร์มาวางแผนงานเพื่อให้เกิดผลการทำงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้จริง ซึ่ง “คน” เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ จึงต้องมีการเรียนรู้และวางแผนร่วมกันอย่างจริงจัง อาทิ การส่งเสริมสัดส่วนผู้เรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น รวมถึงยังขาดการส่งเสริมการเรียนจากการปฏิบัติจริง การเรียนการสอนยังไม่สนับสนุนให้เด็กค้นพบตัวตน ความชอบ และความถนัด”
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มขับเคลื่อนแผนบูรณาการการศึกษาระดับภาค ที่ภาคใต้ชายแดนเป็นภาคแรก เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี ต่อมาที่ภาคตะวันออก ในวันที่ 24-25 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จังหวัดระยอง ภาคกลาง ในวันที่ 26-27 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมราชศุภมิตร จังหวัดกาญจนบุรี จนถึงครั้งนี้ ภาคเหนือ ในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรม ทีคการ์เดน สปารีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ครั้งต่อไปคือ ภาคใต้ ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2561 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล จังหวัดสตูล และสุดท้ายที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมเกษสิริ จังหวัดศรีสะเกษ
อัจฉรา ภาพ/ข่าว