“เลขาธิการ กพฐ. เปิดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 8”

วันที่ 20 สิงหาคม 2562 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 8 โดยมีครู นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการศึกษาพิเศษ เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ กรุงเทพฯ

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 8 ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ : ยกระดับมาตรฐานการศึกษาพิเศษ เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” (The Role of Technology and Innovation in Special Needs Education : Raising the bar, Closing the gap) โดยมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาการศึกษาพิเศษ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และ ดร.มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาการศึกษาพิเศษนั้น สพฐ. เชื่อว่าการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อให้เกิดความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโลกที่มีการแข่งขันสูง การศึกษาได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ที่นอกเหนือจากปัจจัย 4 การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพนอกจากจะเป็นสิ่งจำเป็นในการประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตแล้ว การศึกษายังช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของคนให้มีมาตรฐานทางร่างกายและจิตใจ และเปลี่ยนสถานะความเป็นอยู่ของคน ในงานการศึกษา สพฐ. มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ การค้นหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมาแก้ปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับนักเรียน รวมถึงนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ สพฐ. จึงเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมครู นักวิชาการ และนักศึกษา ให้มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างสร้างสรรค์

ดังนั้น การประชุมวิชาการระดับชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 8 ในครั้งนี้ จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ครู นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจด้านการพัฒนานวัตกรรม ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดบริการทางการศึกษาของประเทศไทยมีมาตรฐานที่สูง และที่สำคัญสามารถปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยได้


“ทั้งนี้ ต้องขอบคุณโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งครู นักเรียน และนักศึกษา เข้านำเสนอผลงานวิชาการในครั้งนี้ รวมทั้ง บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมสนับสนุนคณะวิทยากรในการฝึกอบรมด้าน Coding ให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน รวมถึงฝึกอบรมครูในด้านการใช้แอปพลิเคชั่นในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับครูของโรงเรียนโสตศึกษาอีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าว : อัจฉรา