สพม.34 จัดกิจกรรมสะท้อนคิดการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้

วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ณ โรมแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 เป็นประธานเปิดกิจกรรมสะท้อนคิดโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเชิงพื้นที่ด้วยการวิจัยและพัฒนาเป็นฐาน หลักสูตร : การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ผ่านการบูรณาการแหล่งเรียนรู้อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ ปรากฏการณ์ทางสังคมและภาพอนาคตเพื่อยกระดับการคิด การวิเคราะห์ การอ่านและการเขียนของผู้เรียน ให้แก่ ข้าราชการครู 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ประกอบด้วยกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา รวมจำนวน ทั้งสิ้น 208 คน
ในการนี้ นางสาวอรสา ดีทุ่ง ศึกษานิเทศก์ ในนามผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 ได้ดำเนินโครงการฯ เพื่อปรับทัศนคติและพฤติกรรมการสอน ตลอดจนครูผู้สอนสามารถพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับบริบทโดยการดึงอัตลักษณ์ของตนเองมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านการวิจัยเป็นฐาน โดยร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และศึกษานิเทศก์ทุกคนในสังกัด ในการดำเนินการพัฒนา นิเทศ ติดตาม ให้คำปรึกษาตลอดระยะการดำเนินโครงการ ในการอบรมและพัฒนาครั้งนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง 4 ระยะ ซึ่งการดำเนินการวันนี้เป็นการอบรมในระยะที่ 3 คือการสะท้อนคิด ผลที่เกิดจากการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เข้าอบรมได้นำองค์ความรู้จากการอบรมพัฒนามาแล้วในระยะที่ 1 ไปใช้ในห้องเรียนจริงด้วยกิจกรรม Active Learning ด้วยการใช้วิจัยเป็นฐาน และกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งมีโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 22 โรงเรียน ผู้เข้ารับการอบรมจาก 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก จำนวน 208 คน ในการดำเนินโครงการนี้ ผู้ที่เข้ารับการอบรมพัฒนาและมีผลการประเมินครบตามที่หลักสูตรกำหนด จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อนับชั่วโมงการพัฒนาประกอบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครู สายงานการสอน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด จำนวน 24 ชั่วโมง
ด้าน ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ประธานในพิธีกล่าวว่า โครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเชิงพื้นที่ด้วยการวิจัยและพัฒนาเป็นฐาน หลักสูตร : การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ผ่านการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ ปรากฏการณ์ทางสังคมและภาพอนาคตเพื่อยกระดับการคิด การวิเคราะห์ การอ่านและการเขียนของผู้เรียน ไม่ใช่เป็นเพียงการจัดอบรมพัฒนาเพื่อสนองนโยบายหรือความต้องการของส่วนกลางหรือจัดให้จบไปเพียงครั้งเดียว แต่เป็นการอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้สอนอย่างแท้จริง โดยมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและติดตามเป็นระยะตลอดมา เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าคุณสมบัติของครูนั้น นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ที่ดีแล้ว ต้องมีวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยเทคนิคกระบวนการสอนที่ดีด้วย ซึ่งแนวทางการสอน เชิงรุกแบบ Active Learning จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในชั้นเรียน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน โดยปรับบทบาทครูจากผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกและนักเรียนจากผู้รับรู้มาเป็นผู้มีส่วนร่วม ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน
ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กในยุคปัจจุบันเป็นความท้าทายของครูอย่างมาก ซึ่งการพัฒนาผู้เรียนไม่ใช่การพัฒนาทางด้านวิชาการอย่างเดียว ครูต้องมาทบทวนว่า จะทำอย่างไร ที่จะบูรณาการศาสตร์ความรู้รายวิชาต่างๆ มาเชื่อมโยงเข้ากับสภาพของผู้เรียนปัจจุบันอย่างมีความหมาย จะสอนอย่างไรให้พัฒนานักเรียนสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เดิมจากประสบการณ์ที่ตนเองพบเจอเข้ากับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ และสามารถประยุกต์องค์ความรู้ที่นักเรียนได้รับมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ นั่นหมายความว่า ครูต้องเป็นผู้พัฒนาให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีทั้งทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะการดำเนินชีวิตที่ตอบโจทย์พลเมืองในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือได้ว่าการยกระดับคุณภาพการศึกษาคือการยกระดับคุณภาพประชาการของประเทศได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 เห็นว่าการดำเนินการระยะที่ 3 การจัดกิจกรรมสะท้อนคิดในครั้งนี้ จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยเติมเต็มให้ผู้เข้ารับการพัฒนาสามารถดึงศักยภาพตนเองในการจัดการเรียนการสอนออกมาใช้ได้อย่างสูงสุดและกระตุ้นให้เกิดการคิดพัฒนา ต่อยอดที่สร้างสรรค์ต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรและคณะทำงานคุณภาพที่เรามั่นใจ
โอกาสนี้ ผมต้องขอขอบคุณ ท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านวิทยากร คณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่มีส่วนทำให้เกิดการอบรมและพัฒนาในครั้งนี้ สุดท้ายนี้ กระผมขอให้การดำเนินการอบรมนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ และขอเปิดการอบรมและพัฒนาข้าราชการครู ณ บัดนี้
ต่อจากนั้น เป็นกิจกรรมสะท้อนคิดการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ผ่านการบูรณาการแหล่งเรียนรู้อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ ปรากฏการณ์ทางสังคมและภาพอนาคตเพื่อยกระดับการคิด การวิเคราะห์ การอ่านและการเขียนของผู้เรียน โดยแบ่งกลุ่ม 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อนำเสนอแนวคิดที่ประสบผลสำเร็จและสภาพปัญหาตามบริบทของพื้นที่