สพป.ยะลา เขต 3 ประชุมวางแผนการกรอกข้อมูลกลาง BIG DATA ของกระทรวงศึกษาธิการและมอบนโยบายเพื่อสร้างการรับรู้ ศธ 63

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมร่มเย็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 นายโกมุท รุยอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 เป็นประธานเปิดการประชุมวางแผน ให้คำปรึกษา ติดตาม ตรวจสอบ ข้อมูลครู บุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรอื่นในระบบฐานข้อมูลกลาง BIG DATA พร้อมชี้แจงนโยบาย ศธ 63 รัดเข็มขัดงบประมาณ ปี 63 งด ลด เลิก ทวน นโยบายของสพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยโฟกัสที่ห้องเรียนเป็นฐาน เพื่อสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้มีผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายโกมุท  รุยอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3  เผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยเน้นและให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา สำหรับคนทุกช่วงวัย รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการศึกษาที่มีมาตรฐาน เชื่อมโยง และเข้าถึงได้ ในระบบฐานข้อมูลกลางBIG DATA ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อการจัดเก็บทะเบียนประวัติผู้เรียนและบุคลากร จึงได้กำหนดประชุมวางแผนร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อติดตาม ตรวจสอบข้อมูลครูและบุคลากรทางการศึกษาให้กรอกข้อมูลแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ผ่านทางเว็บไซต์ edu.moe.go.th ให้มีความครบถ้วน ถูกต้องสมบูรณ์

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ได้ชี้แจงนโยบาย จุดเน้น ของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้บริหารสถานศึกษานำนโยบาย ศธ 63 รัดเข็มขัดงบประมาณ ปี 63 งดการดูงานต่างประเทศ 1 ปี ให้พิจารณาการเดินทางไปดูงานต่างประเทศเฉพาะงานที่จำเป็นและเป็นประโยชน์แก่การศึกษา  ลดการจัดอบรมสัมมนา ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากในขณะเดียวกันให้ศึกษาวิธีการที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการฝึกอบรม ยกเลิกการจัดงานแบบ Event เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นต้องมีพิธีการมากมาย ทบทวนการใช้งบประมาณเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้หน่วยงานต่างๆ เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการมีศักยภาพในการบริหารงบประมาณเพื่อประโยชน์ให้มากที่สุด  เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยให้ครูนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการการเรียนรู้ DLTV/ DLIT การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning แบบ Codding  เน้นครู PLC ในการแก้ไขปัญหาของผู้เรียน เพื่อหวังผลสำเร็จให้เกิดคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง

ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เน้นย้ำให้ศึกษานิเทศก์ ลงพื้นที่ไปสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนของครูถึงห้องเรียน โดยเน้นการนิเทศภายในห้องเรียน  การพัฒนาและใช้นวัตกรรมในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ รวมถึงบุคลากรทางการศึกษากลุ่มอำนวยการ  กลุ่มส่งเสริมการศึกษา กลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  หน่วยตรวจสอบภายใน จัดเก็บข้อมูลด้านนโยบาย เช่น โครงการอาหารกลางวัน สิ่งแวดล้อม เด็กตกหล่น  แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน การจัดทำฐานข้อมูล Big Data ของโรงเรียน การตรวจสอบการเบิกจ่ายต่างๆ ของโรงเรียน ตืดตามการจัดทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกของโรงเรียนให้มากขึ้น และนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานผู้บังคับบัญชาทราบอาทิตย์ละ 1 ครั้งต่อไป