สพฐ. MOU กับมูลนิธิรักษ์ไทย ว่าด้วยโครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย

วันที่ 22 มกราคม 2563 นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สพฐ. กับมูลนิธิรักษ์ไทย ว่าด้วยโครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย โดยมี นายชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. และมูลนิธิรักษ์ไทย เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอขอบคุณมูลนิธิรักษ์ไทย ที่ให้ความสำคัญในโครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียน และโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนลดการรังแกกัน ทั้งในโรงเรียน และในโลกไซเบอร์ รวมทั้งครูในสังกัด สพฐ. ผู้ปกครอง และภาคีเครือข่าย ตระหนักรู้และเข้าใจว่า การล้อ แกล้ง รังแกกัน เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ โดยใช้ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา และขอขอบคุณกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ สพฐ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สองหน่วยงานจะได้ร่วมมือกันในการดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว เพื่อลดปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกัน ในสถานศึกษาและโซเชียลมีเดีย ดังนั้น การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มุ่งไปสู่การขยายผลใน “โครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย” ต่อไป

สำหรับนายชนะ สุ่มมาตย์ กล่าวว่า สพฐ. ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทยได้ดำเนินโครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนลดการรังแกทั้งในโรงเรียนและในโลกไซเบอร์ รวมทั้งครูในสังกัด สพฐ. ผู้ปกครอง และภาคีเครือข่ายตระหนักรู้และเข้าใจว่า การล้อ แกล้ง รังแกกัน เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ โดยใช้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สพฐ. กับมูลนิธิรักษ์ไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน โครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย

ด้านนายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละ 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน นักเรียนที่อยู่ในวงจรการรังแกอยู่ในระบบการศึกษามากกว่า 40 % และประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก เมื่อเฉพาะเจาะจงเรื่องการรังแกทางโลกออนไลน์ กล่าวคือ Cyber Bullying เกิดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมจริง และต่อเนื่องไปยังสังคมออนไลน์ หรือเกิดจากการสร้างทัศนคติ พฤติกรรมรุนแรง เกลียดชังในชีวิตจริง และนำไปใช้ในโซเชียลมีเดีย การล้อ แกล้ง รังแกกันในโรงเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นที่มา และเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนการล้อ แกล้ง รังแกกันในโลกออนไลน์ มูลนิธิรักษ์ไทย และศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน จึงเห็นความสำคัญ ร่วมพัฒนาโครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่สามารถติดตาม สถานการณ์การล้อ แกล้ง รังแกของนักเรียนในโรงเรียน พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ ระบบ E – Training สำหรับครูและบุคลากร และระบบ E-Learning สำหรับนักเรียน ที่สามารถนำไปใช้กับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 29,715 โรงทั่วประเทศ พัฒนานักเรียนจำนวน 35,000 คน จาก 50 โรงเรียนนำร่องใน 5 ภูมิภาค มีความเข้าใจเรื่องการรังแกและสาเหตุที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ร่วมจัดทำกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกัน ในโรงเรียนและโลกออนไลน์ พัฒนาครู 2,890 คน จาก 50 โรงเรียนนำร่องใน 5 ภูมิภาค ให้เกิดความเข้าใจ และเกิดความตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาการล้อ แกล้ง รังแกกัน ในโรงเรียนและโลกออนไลน์ สามารถจัดการแก้ไขปัญหา รวมถึงพัฒนาเครือข่าย “สื่อดี ยุติการรังแก” ที่มีเด็กเยาวชน ผู้ปกครอง และผู้มีอิทธิพลทางสื่อร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจ เสนอแนวทางแก้ไขหรือป้องกันปัญหาการล้อ แกล้งรังแกกัน และชิ้นงานสื่อสร้างสรรค์ 50 ชิ้นงาน

สำหรับเป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือ การให้เด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัด สพฐ. ได้รับการเสริมสร้างคุณค่า การรับรู้ และพฤติกรรมที่เข้าใจการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย พร้อมทั้งเข้าใจอิทธิพลสื่อที่ไม่ได้สร้างการรังเกียจ การเกลียด และพฤติกรรมรุนแรง และสามารถทดแทนโดยสื่อที่ดีสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้น ให้ครู มีความเข้าใจและทักษะในการแนะนำ และให้การปรึกษาเด็กที่เป็นผู้รังแก หรือ ผู้ถูกรังแกอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยมีระยะเวลาโครงการ 1 ปี ( 9 ธันวาคม 2562 – 8 ธันวาคม 2563)

ฐิติมา ข่าว

https://youtu.be/GyHD270Po-g